คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เดินหน้าโครงการ “สูงวัยสดใส ยุค 4.0” ยกระดับสุขภาวะผู้สูงอายุ ทำให้การมีสุขภาพดีทั้งกายและใจเป็นเรื่องที่จับต้องได้
จากการที่สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ท่ามกลางสภาพสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมตามเมืองใหญ่ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน มีการแข่งขันกันสูง ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่คนเดียว ต้องเผชิญกับความเหงา ความรู้สึกถูกทอดทิ้งไร้คุณค่า ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บป่วยไข้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นทุกปี
สุขภาพดีไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การปราศจากโรคภัยเท่านั้น แต่หมายถึง การดำรงอยู่ในสุขภาวะที่ดี ดังนั้น การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมจึงมุ่งเน้นที่การป้องกัน (Preventive healing) มากกว่าการรักษา (Curative healing) ในการนี้ หากประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และปรับสมดุลในมิติเชิงสุขภาวะให้ดีได้ ก็จะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการทางสุขภาพจากเชิงรับมาเป็นเชิงรุกได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้กระบวนการดูแลสร้างเสริมสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไป
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่ม “โครงการสูงวัยสดใส ยุค 4.0” โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการการประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health & Wellness) เพื่อยกระดับสุขภาวะผู้สูงอายุในกลุ่มภาคกลาง” ดำเนินโครงการระหว่างเดือนตุลาคม 2561 – กันยายน 2562
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวว่า “เทคนิคการแพทย์มีจุดแข็งหรือความเชี่ยวชาญในเรื่องการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประเมินสุขภาวะ ทั้งในคนปกติ หรือคนป่วย โดยสามารถติดตามพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ตลอดจนสามารถติดตามการรักษา พยากรณ์โรค สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคต่างๆ โดยเราจะนำข้อมูลที่ได้ไปค้นวิเคราะห์ระดับลึกๆ ในร่างกาย เพื่อที่จะมาดูว่าในแต่ละคนจะต้องมีรูปแบบของดูแลสร้างเสริมสุขภาพตัวเองอย่างไร เพื่อที่จะได้สามารถเข้าใจกับวิถีชีวิต เข้าใจปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค และมีการดูแลสุขภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น”
“ประเด็นที่รัฐบาลให้ความสนใจมาก คือ ในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพคน เพราะฉะนั้นการที่ถ้าเราทำให้คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ และเข้าถึงนวัตกรรมต่างๆ ได้ ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพทั้งในการดูแลตนเอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ตลอดจนชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการนำนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เข้ามาช่วยอธิบายในการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตของตัวเองสู่รูปแบบที่เข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ และเท่าทันต่อประเด็นปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สอดรับกับทั้งเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคน และไทยแลนด์ 4.0 ในการส่งต่อนวัตกรรมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เข้าถึงมากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวต่อไปว่า “ในการดำเนินโครงการฯ เราได้นำนวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์คลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography หรือ EEG) ซึ่งเดิมมีการใช้ในทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง แต่เรานำมาปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยเอานวัตกรรมมาใช้กับสุขภาพทางใจ ในรูปแบบของการลดความเครียด หรือการผ่อนคลายที่เหมาะสม และสามารถจับต้องได้ โดยปัจจุบัน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นแห่งแรกที่นำเอาเครื่อง EEG มาใช้วัดคลื่นสมองเพื่อหาจริตแห่งความผ่อนคลาย โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health And Wellness Centre) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตบางกอกน้อย”
“ปกติเราใช้เครื่อง EEG ในการวิเคราะห์คลื่นสมอง 2 คลื่นที่สำคัญ ได้แก่ 1.คลื่นเบต้า ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความถี่สูงมาก เป็นคลื่นในช่วงที่สมองมีการตระหนักครุ่นคิด รวมไปถึงในบางมิติที่หากคลื่นเบต้าสูง อาจหมายถึงคนที่มีภาวะเครียดสะสมด้วย 2.คลื่นแอลฟ่า ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความถี่ต่อรอบต่ำลง โดยคลื่นแอลฟ่าจะเพิ่มสูงขึ้นในคนที่สามารถควบคุมการทำงานของสมองให้ผ่อนคลายลงมาได้ในระดับหนึ่ง โดยจากการวิเคราะห์คลื่นสมองทั้ง 2 คลื่นนี้ด้วยการใช้เครื่อง EEG เราสามารถแนะนำแนวเพลงที่มี rhythm & melody ที่ทำให้คลื่นสมองผ่อนคลายในระดับที่เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งจากงานวิจัยที่เราทำมาก่อนหน้านี้พบว่าหลายคนมีรูปแบบของการผ่อนคลายด้วยเพลงที่แตกต่างกัน จึงได้มีการนำนวัตกรรมการใช้คลื่นไฟฟ้าสมองเข้ามาช่วยค้นหาเพลงที่เหมาะสมในการผ่อนคลาย”
“นอกจากนี้ ในโครงการฯ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายต่างๆ อาทิ Art Relaxation ซึ่งใช้เรื่องของศิลปะ อย่างเช่นการวาดภาพด้วยสีต่างๆ การจัดดอกไม้ด้วยศาสตร์ของญี่ปุ่น เข้ามาช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดภาวะผ่อนคลาย และ Body Relaxation ซึ่งเป็นการผ่อนคลายร่างกาย ยืดเหยียดด้วยการเคลื่อนไหวโดยใช้ศาสตร์ของจีนที่เรียกว่า “เต้าเต๋อซินซี” เพื่อช่วยให้มีการหมุนเวียนของลมปราณ ทำให้ร่างกายสามารถควบคุมระบบต่างๆ ได้ดีขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี สุวรรณจ่าง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาสุขภาวะ สวัสดิภาพ และความปลอดภัย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “นอกจากนี้ทีมของคณะเทคนิคการแพทย์ได้แนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันการดูแลสุขภาพ ซึ่งตอนนี้ได้จัดทำเป็น Web-based เพื่อใช้ในการติดตามผลสุขภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม โดยสามารถดูผลย้อนหลังได้ และจะมีคำแนะนำว่าควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือใช้วิถีชีวิตอย่างไรให้เหมาะสม นอกจากนั้นจะมีการดูแลด้านโภชนาการโดยสามารถใช้แอปพลิเคชันของโครงการฯ นับจำนวนแคลอรี่ของอาหารที่รับประทาน และยังมีเรื่องของการออกกำลังกาย โดยในแอปพลิเคชันจะมีการตั้งกลุ่มให้เชิญชวนเพื่อนๆ มาออกกำลังกาย แล้วจะมีการให้คะแนนเพื่อเป็นแรงจูงใจ นอกจากนี้ยังมีลิงค์ของมหิดลแชนแนลที่หลายๆ คณะได้ให้คำแนะนำเรื่องของการออกกำลังกาย และมีการแสดงผลการวัดคลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง เพื่อ monitor สุขภาพอยู่ในแอปพลิเคชันด้วย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี สุวรรณจ่าง กล่าวต่อไปว่า โครงการสูงวัยสดใส ยุค 4.0 นี้เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคกลาง และจะขยายผลสู่ภาคอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์, ชุมชนมหาสวัสดิ์ ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม, ชุมชน ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม, ชุมชนเบิกไพร ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี, พื้นที่ทุ่งครุ กรุงเทพฯ, พื้นที่เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพฯ, พื้นที่สามพราน จ.นครปฐม และพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งมีการจัดที่คณะฯ ทุกเดือน โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการคัดเลือก “ผู้นำต้นแบบ” ในการดูแลสุขภาพ เพื่อที่จะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน โดยพิจารณาจากผลการตรวจสุขภาพ ซึ่งผู้นำต้นแบบจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งกับผู้ทำโครงการ และกับเพื่อนๆ ผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจะมาเล่าสู่กันฟังว่า การที่เขามีสุขภาพที่ดี วิถีชีวิตประจำวันของเขาเป็นอย่างไรบ้าง และอะไรที่ทำให้เขามีสุขภาพที่ดี
คุณดวงเดือน เจริญจิตต์กุล แม่บ้านวัย 55 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ณ เสถียรธรรมสถาน เล่าว่า จากการเข้าโครงการ 2 ครั้งได้นำหลักการที่วิทยากรสอนกลับไปปฏิบัติ เช่น การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพใจ โดยการทำสมาธิ สวดมนต์ และฟังธรรมะ พยายามอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอนาคตและย้อนไปถึงอดีตให้มากนัก ตื่นมาก็พยายามบอกรักตัวเอง เพราะถ้าเราไม่ดูแลตัวเองก็จะไม่เป็นภาระกับคนอื่น ก็เลยมีกำลังใจอยากออกกำลังกาย และดูแลตัวเอง นอกจากนี้ยังทำอาหารเอง และเลือกอาหารที่เป็นอาหารสุขภาพ ไม่ทานของทอด ปิ้ง ย่าง พยายามทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ ตลอดจนทำใจให้สบาย เพราะตัวเองคิดว่า ชีวิตนี้สั้นนัก ถ้าเราได้มีโอกาสดูแลตัวเอง เราก็จะไม่เป็นภาระกับใคร
“การทำให้สุขภาพดีทั้งกายและใจเป็นเรื่องที่จับต้องได้สำหรับทุกคน…สุขภาพดีสามารถเห็นได้ตั้งแต่ระดับโมเลกุลที่อยู่ภายในร่างกายของแต่ละบุคคล… สุขภาพดีจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความตระหนักรู้และความใส่ใจในสุขภาพของแต่ละปัจเจกบุคคล” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี สุวรรณจ่าง กล่าวสรุปทิ้งท้าย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม