วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล แนะใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน”

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล แนะใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน
ครอบครัวอบอุ่นเกิดจากใช้เวลาร่วมกันให้มากพอในพื้นที่จริง

กันยายน 2561 – สิงหาคม 2562 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินโครงการยุวชนนิเวศน์ของประชากรเจเนอเรชัน ซี-อัลฟ่า (Child Ecology of Thai Z-Alpha) ซึ่งเป็นประชากรเจเนอเรชันล่าสุดของสังคมไทยที่จะเติบโตเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคต (เกิดระหว่าง พ.ศ.2547 – 2566) โดยมุ่งประเด็นการศึกษาไปที่ความเชื่อมโยงของอิทธิพลจาก 3 พื้นที่ที่แวดล้อม และส่งผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของยุวชนในเจเนอเรชันนี้ ซึ่งได้แก่ บ้าน โรงเรียน และพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากบ้านและโรงเรียน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ประชากรเจเนอเรชัน ซี-อัลฟาของประเทศไทยในบริบทต่างๆ และนำเสนอแนวทางในการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีเป็นมิตรต่อการเติบโตและงอกงามของประชากรรุ่น ซี-อัลฟ่า ให้มีศักยภาพในการดูแล และทำนุบำรุงสังคมไทยต่อไปในอนาคต โดยการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 3 – 14 ปี จำนวน 1,500 คน ผู้ปกครอง จำนวน 1,500 คน และ ครู จำนวน 1,500 คน ใน 5 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และ สุราษฎร์ธานี เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์โดยทีมนักประชากร นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา และนักจิตวิทยา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ว่า “ส่วนหนึ่งที่เราพูดคุยเพื่อตั้งคำถามศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ คือ เวลาที่เด็กใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับคนในครอบครัวมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่าครอบครัวในสังคมไทยในปัจจุบัน คนในครอบครัวมีการพูดคุยกันในพื้นที่เสมือนมากขึ้น เนื่องจากอยู่กันแบบกระจัดกระจายกันมากขึ้น อยู่ห่างไกลกันมากขึ้น และใช้เวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง เนื่องจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการย้ายถิ่น จากครอบครัวขยายที่อยู่กันแบบปู่ย่าตายายพ่อแม่ลูกในหนึ่งบ้าน หรือรวมกันสามเจเนอเรชัน อาจเหลือแต่พ่อแม่ลูก ในขณะที่พ่อแม่ลูกบางบ้านก็อาจจะเหลือแต่พ่อกับลูก หรือแม่กับลูก อย่างนี้เป็นต้น รวมทั้งการที่สมาชิกในครัวเรือนใช้เวลาเดินทางในท้องถนนนานขึ้นเนื่องจากสภาพการจราจรและความเป็นเมือง ซึ่งจากการที่สังคมมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้ครอบครัวจำเป็นต้องใช้พื้นที่เสมือนในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่าน LINE หรือผ่าน Facebook โดยเราพยายามที่จะตีแผ่ความสัมพันธ์ของครอบครัวที่พูดคุยผ่านโซเชียลมีเดียว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีช่องว่างการสื่อสารระหว่างเจเนอเรชันที่อยู่ในพื้นที่เสมือนนี้”
“เราพบว่าในครอบครัวในพื้นที่เสมือนสามารถมีครัวเรือนในลักษณะต่างๆ ทั้ง “ครัวเรือนขยาย” หรืออยู่ด้วยกันสามเจเนอเรชัน ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูก ทั้ง “ครัวเรือนเดี่ยว” ที่มีเพียงหนึ่งหรือสองเจเนอเรชัน และ “ครัวเรือนข้ามรุ่น” ซึ่งมีปู่ย่าตายายอยู่ด้วยกันกับหลานแต่พ่อแม่ไม่อยู่ เป็นครัวเรือนในลักษณะหลากหลายแต่เกิดขึ้นได้พร้อมกัน นอกจากนี้พบว่าการใช้โซเชียลมีเดียส่งผลต่อการทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับคนอื่นๆ โดยในกลุ่มครอบครัวที่มีสามเจเนอเรชัน ผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่าตายายอาจรู้สึกไม่ชินกับภาษาที่เด็กสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นคำห้วนๆ หรือ คำแผลงต่างๆ ที่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ชอบ ในขณะที่เจเนอเรชันพ่อแม่จะคอยเป็นตัวประสานความเข้าใจของเจเนอเรชันปู่ย่าตายายกับเจเนอเรชันลูก โดยเราพยายามที่จะบอกว่าโซเชียลมีเดียที่ใช้กับครอบครัวนั้นมีข้อดีคืออะไร ข้อไม่ดีคืออะไร ซึ่งการโซเชียลมีเดียจริงๆ แล้วถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์สามารถช่วยได้ในเรื่องการบริหารจัดการภายในครัวเรือน (Household Management) เช่น การไปโรงเรียนของลูก การจัดการเรื่องอาหาร การนัดพบเพื่อทำกิจกรรมของครอบครัวผ่านโซเชียลมีเดีย ฯลฯ โดยสามารถเยียวยาความเปราะบางของครอบครัวที่ต้องอยู่ห่างไกลกันได้ แต่ทดแทนการเป็นอยู่แบบได้เห็นหน้ากันได้สัมผัสกันไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นข้อควรระวัง หากเรารู้เท่าทันจะทำให้เราใช้สื่อสร้างสรรค์สังคมได้อย่างเป็นประโยชน์มากที่สุด”
“ส่วนหนึ่งจากงานวิจัยพบว่า ถ้าบรรยากาศในครอบครัวในพื้นที่จริงดี บรรยากาศในโซเชียลมีเดียก็จะดีไปด้วย โดยเป็นผลที่ตามมาจากความอบอุ่นที่เกิดจากการสัมผัสในพื้นที่จริง แต่ถ้าเกิดในพื้นที่จริงความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี จะทำให้ความสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดียไม่ดีไปด้วย และแม้ความรักความผูกพันยังมี แต่ด้วยความห่างไกล ทำให้โอกาสในการช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างทันท่วงทีลดลงตามไปด้วย ซึ่งโดยสรุปเป็นการยืนยันว่า ความอบอุ่นที่แท้จริง เกิดขึ้นนอกพื้นที่เสมือน เพราะฉะนั้นควรจะต้องมีการใช้เวลาร่วมกันระหว่างครอบครัว (family time) ที่มากเพียงพอ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร กล่าวสรุปทิ้งท้าย

Loading