วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

กุมารแพทย์สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล”ชี้นมแม่มีความสัมพันธ์กับทักษะสมอง EF“

กุมารแพทย์สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล ชี้
นมแม่มีความสัมพันธ์กับทักษะสมอง EF

มนุษย์ทารกแรกเกิด มีน้ำหนักสมองเท่ากับ 350 – 400 กรัม ในขณะที่มนุษย์ผู้ใหญ่ มีน้ำหนักสมองเท่ากับ 1,300 – 1,400 กรัม โดยสมองของทารกแรกเกิดนั้นจะมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 25 ของน้ำหนักสมองของผู้ใหญ่ ขนาดศีรษะของทารกแรกเกิดจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของลำตัว โดยสัดส่วนของศีรษะต่อร่างกายเมื่อแรกเกิด จะเท่ากับประมาณ 1 : 4 และเมื่อโตเต็มที่จะเป็น 1 : 7
จากการทบทวนวรรณกรรมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ช่วงสามปีแรกของชีวิตเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก นมแม่มีความสัมพันธ์กับทักษะสมอง EF (Executive Functions) เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง อันเป็นพื้นฐานของการรู้คิดและพฤติกรรมต่างๆ นอกจากนี้จะพบว่าในมารดาที่ให้บุตรดูดนมของตนเอง จะมีความรักใคร่ผูกพันทารกมากกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยนมตนเอง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรประสาทวิทยาศาสตร์และศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า EF เปรียบเหมือน CEO ของสมองที่คอยบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม เป็นตัวกลางที่คอยควบคุมกระบวนการทั้งหมด ให้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียง สอดคล้องต้องกัน โดยดูตัวอย่างจากภาพยนตร์แอนิเมชั่น ‘Inside Out’ ที่บอกเล่า 5 อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ความสุข ความกลัว ความโกรธ ความรังเกียจ และ ความเศร้า ผ่านตัวละครที่เป็นตัวการ์ตูนให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ ซึ่ง EF คือตัวที่มาจัดการกับ 5 อารมณ์ที่อยู่ในสมองส่วนสัญชาตญาณ ที่ทางการแพทย์ เรียกว่า “ระบบลิมบิค (Limbic System)” ซึ่งคนที่มี EF พัฒนาดีจะมีกระบวนการมาควบคุมพวกนี้ ดีใจก็จะไม่ดีใจมากเกินไป เศร้าก็จะไม่เศร้ามากเกินไป โกรธก็ควบคุมได้ เสียใจก็ควบคุมได้

พื้นฐานของ EF ด้านหนึ่ง คือ เรื่องการอดทนรอคอย การยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่กระบวนการให้นมแม่ ซึ่งการดูดนมจากเต้านมมารดา และการดูดนมขวดมีการไหลไม่เหมือนกัน โดยพบว่าการดูดนมแม่จะยากกว่าการดูดนมขวด เนื่องจากเด็กต้องใช้แรงในการดูดมากกว่า เป็นการฝึก EF ในแง่ของการอดทนรอคอย และเมื่อโตขึ้นมาในช่วงอายุ 2 – 3 ปี เด็กส่วนใหญ่ในช่วงวัยนี้จะซนกันโดยธรรมชาติ ซึ่งหากได้รับการฝึกให้รู้จักการยับยั้งชั่งใจ จะทำให้พฤติกรรมในเรื่องซนของเขาดีขึ้นได้ โดยสรุปแล้ว EF ต้องเริ่มฝึกกันตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน แต่ปัญหาที่เราพบ คือ เด็กไม่เคยได้ฝึก จะมาฝึกกันก็ต่อเมื่อเด็กได้เรียนชั้นประถมขึ้นไปแล้ว ซึ่งจะฝึกได้ยากกว่า”
“นอกจากนี้ ในเรื่องของความยืดหยุ่นในกระบวนการคิดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งก็คือการที่เด็กสามารถเปลี่ยนแปลงการตอบสนองตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปต่างๆ ได้ อย่างเช่น สมมุติว่าแม่เปลี่ยนที่เก็บของเล่นให้อยู่สูงขึ้น เด็กก็ต้องรู้วิธีจะเอาของเล่นลงมาอย่างไร โดยอาจจะใช้เก้าอี้ตัวเล็กๆ มารองขาเพื่อปีนขึ้นไปเอาของเล่น เป็นต้น ซึ่งเด็กที่มีพัฒนากระบวนการด้านนี้จะเป็นเด็กที่สามารถปรับตัวได้ไว โดยจะเห็นพัฒนาการนี้ได้ตั้งแต่ช่วง 3 ปีแรก แต่จะเห็นภาพนี้ได้ชัดเจนขึ้นในช่วง 3 – 6 ปีขึ้นไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กล่าว
จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังพบต่อไปอีกว่า แม่ที่ให้ลูกดูดนมของตนเอง จะมีความรักใคร่ผูกพันกับลูก มากกว่าแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ได้อธิบายว่า นมแม่มีความสัมพันธ์กับทักษะสมอง EF โดยขณะที่ลูกดูดนมจะมีการสื่อสารระหว่างลูกกับแม่ และมีการสร้างความผูกพันเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นต่อคนอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งสารอาหารในน้ำนมแม่เพียงพอและเหมาะสมแล้วในการพัฒนาสมอง ในขณะที่พบว่านมที่มีการเติมสารอาหารตามในโฆษณา อาจจะเป็นการเพิ่มปริมาณสารอาหารที่มากจนเกินความจำเป็น ซึ่งอาจไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารที่เด็กควรจะได้รับตามปกติได้
“ในกรณีที่คุณแม่เองไม่สามารถให้นมได้ตลอด คุณแม่อาจปั๊มนมเก็บเอาไว้แช่ตู้เย็น แล้วตอนกลางวันให้คนเลี้ยง ซึ่งอาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย เอานมนั้นมาป้อนให้เด็ก ซึ่งถึงอาจจะต้องดูดจากขวดนม แต่เวลาให้นมควรจะต้องทำในลักษณะเดียวกับที่แม่ทำด้วย กล่าวคือ มีการสบตากัน ร้องเพลงกล่อม และกอดสัมผัสกัน เพื่อทดแทนการดูดนมจากเต้าของแม่ ซึ่งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการให้นมแม่ ไม่ใช่แค่ว่าลูกได้สารอาหารครบ แต่ปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างการให้นมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมทิ้งท้าย

Loading