รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราของจังหวัดนราธิวาส ชี้ใช้มาตรการใช้เชื้อราปราบเชื้อราในเบื้องต้น ป้องปราบสถานการณ์ฯ แนะเกษตรกรจะต้องอบรมเพิ่มองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ 13 พ.ย.62 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราของจังหวัดนราธิวาส ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ จำกัด หมู่ที่ 5 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และแปลงสวนยางของเกษตรกรในพื้นที่ โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคพืช ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส เกษตรจังหวัดนราธิวาส ผู้แทนสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ตลอดจนนายประยงค์ จินดา ประธานกลุ่มสหกรณ์บ้านป่าไผ่ และสมาชิกส หกรณ์กลุ่มน้ำยางในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับฯ
โอกาสนี้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับฟังการบรรยายสรุปกิจการของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ จำกัด โดยนายประยงค์ จินดา ประธานกลุ่มสหกรณ์บ้านป่าไผ่ รวมถึงรับฟังการบรรยายสรุป เรื่องโรคใบร่วงในยางพาราในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยนายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส หลังจากนั้นได้ดูงานกิจกรรมการรวบรวมน้ำยางข้น และการทำผลิตภัณฑ์ยาง
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมอบให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดรวบรวมความเสียหายส่งให้กับรัฐบาล ซึ่งมีมาตรการในการเชื้อราปราบเชื้อราในเบื้องต้น แต่อาจใช้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องไปศึกษาลงลึกทางวิชาการกันต่อ และหลังจากนี้จะมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร ที่สามารถเป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแนวทางการดูแลพี่น้องเกษตรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถานการณ์ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประกันราคายางในราคา 60 บาท ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่การเพิ่มมูลค่าน้ำยางก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก สามารถแปรรูปน้ำยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่น ถุงมือ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อยากให้ช่วยกันระดมความคิดในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำยาง ที่สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีด้วย
พร้อมเน้นย้ำในส่วนของการยกเลิก 3 สารเคมี เพื่อสุขภาพอนามัยพี่น้องประชาชน จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องยกเลิกการผลิตปุ๋ยปลอม ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาวด้วย
โอกาสนี้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจเจ้าของแปลงสวนยางของเกษตรกรในพื้นที่ด้วย
ข่าว/ ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส