วันอาทิตย์, 5 มกราคม 2568

กรมวิชาการเกษตร”กำชับชาวสวนจับตาโรคผลเน่า” ทุเรียนทำลายผลในเปลือกหลังพบเชื้อรา

กำชับชาวสวนจับตาโรคผลเน่าทุเรียนทำลายผลในเปลือก

หลังพบเชื้อราสาเหตุโรคเน่าระบาดหนักหลังเก็บเกี่ยว

 

 

กรมวิชาการเกษตร  เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคผลเน่าทุเรียนบุกสวน  ชี้ฝนตก  ความชื้นสูงปัจจัยเสี่ยงระบาดหนัก  เคลียร์เชื้อราสาเหตุโรคทำลายผลภายในเปลือก  ฆ่าเชื้อที่ผิวเปลือกสยบโรคเน่าไม่อยู่    แนะเอกซเรย์สวนถี่ทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว  กำจัดผลเป็นโรคนอกแปลง  จุ่มผลในสารป้องกันกำจัดโรคพืช  ผึ่งให้แห้ง  ก่อนส่งออกตัดวงจรโรคผลเน่า  พร้อมเปิดคลินิกพืชให้คำแนะนำ

นางสาวเสริมสุข   สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงนี้กรมวิชาการเกษตรขอแจ้งเตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เฝ้าระวังโรคผลเน่า  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพลดลง    โดยโรคนี้พบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน  แต่ส่วนใหญ่มักพบในผลช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว  และระหว่างการบ่มผลให้สุก  โดยอาการเริ่มแรกจะเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนผล และจุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้นตามการสุกของผล  ในสภาพที่มีความชื้นสูงอาจพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล  โดยจะพบอาการของโรคได้ตั้งแต่ผลยังอยู่บนต้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากผลจะเน่าร่วงหล่นก่อนกำหนด 

 

โรคผลเน่ามักพบหลังการเก็บเกี่ยวโดยเชื้อราสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผลเน่า ได้แก่ เชื้อราไฟทอฟธอรา พาลมิโวรา  ซึ่งสามารถป้องกันและลดความเสียหายได้หากมีการปฏิบัติดูแลแปลงตามคำแนะนำ  โดยเฉพาะในแปลงที่มีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงมาก  อย่างไรก็ตาม ยังมีเชื้อราบางชนิดที่สามารถทำให้เกิดการอาการผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้  แต่สาเหตุหลักมักพบอาการผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อราลาซิโอดิพโพลเดีย ธีโอโบรมี และเชื้อราโฟมอปซีส  ในพื้นที่ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย   ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดความเสียหายจากโรคผลเน่าทุเรียนโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่กลางวันสภาพอากาศร้อน  และมีความชื้นสูงเนื่องจากฝนตก  เกษตรกรควรเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การดูแลในแปลงปลูกก่อนการเก็บเกี่ยวให้หมั่นตรวจผลทุเรียนในแปลงอย่างสม่ำเสมอ ตัดผลที่เป็นโรค และเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน  และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลอย่างน้อย 15 วัน   ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ  และทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง  ในแปลงปลูกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผลเน่าสูง เนื่องจากมีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงมาก ประกอบกับมีฝนตกชุกหรือมีความชื้นในอากาศสูงในช่วงทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยวผล  เชื้อสาเหตุโรคอาจจะติดไปกับผลได้โดยยังไม่แสดงอาการ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวผลต้องระมัดระวังไม่ให้ผลสัมผัสกับดิน   หรือปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาด  เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดินซึ่งมีเชื้อสาเหตุโรค  และการขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล

 

การดูแลผลผลิตทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว ให้เก็บรวบรวมผลเน่าที่ร่วงหล่นในสวน  ไปทำลายนอกสวนหากพบผลเน่า 1 ผลต่อต้น หรือสวนที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่ารุนแรง พ่นผลด้วยฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม  80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  ก่อนเก็บผลทุเรียน 30 วัน  จุ่มผลทุเรียนด้วยอิมาซาลิล ความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นเวลา 3 นาที  หรือจุ่มผลทุเรียนด้วยด้วยฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ความเข้มข้น 2,000 พีพีเอ็ม เป็นเวลา 2 นาที  โดยควรทำภายหลังจากการเก็บเกี่ยวทันที  เมื่อแช่สารป้องกันกำจัดโรคพืชแล้วต้องผึ่งให้แห้งก่อนการขนส่ง  ซึ่งการขนส่งโดยห้องเย็นที่อุณภูมิ 15 องศาเซลเซียสจะช่วยลดความเสียหายจากการแสดงอาการผลเน่าได้

 

เชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าสามารถแพร่ระบาดได้ด้วยลมและฝน  รวมทั้งเศษซากพืชที่เป็นโรคภายในแปลง   ดังนั้นจึงขอแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่สภาพอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยว   ที่สำคัญหลังจากเก็บเกี่ยวไม่ควรวางผลทุเรียนสัมผัสกับดินโดยตรง  และการขนย้ายต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลและการกระแทกกันของผลทุเรียน  อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคผลเน่า  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิคพืช  กลุ่มวิจัยโรคพืช  สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  โทร. 0-2579-9583″ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

 

พนารัตน์   เสรีทวีกุล : ข่าว

กลุ่มประชาสัมพันธ์ /

วันที่ 18 มิถุนายน  2563

Loading