สสจ.ประจวบฯแนะทุกหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพเทอร์โมสแกนหลังใช้งานนาน 6 เดือน
วันที่ 14 กันยายน นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ( สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะได้หารือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสอบถามแนวทางการตรวจสอบ การใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิจากแสงอินฟาเรดหรือเทอร์โมสแกน ของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการคัดกรองบุคคลจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลเป้าหมายไม่มีอุณหภูมิร่างกายสูงจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวควรมีการตรวจสอบความเที่ยงตรงของการตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อไม่ให้มีความคลาดเคลื่อน และหน่วยงานที่ใช้อุปกรณ์ควรตรวจสอบการใช้งานทุก 6 เดือน โดยขอให้ผู้จำหน่ายทำการทดสอบเพื่อประเมินการใช้งาน แต่ทราบว่าหลายหน่วยงานได้จัดซื้อเครื่องตรวจวัดหลายราคา จากการซื้อขายในระบบออนไลน์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและยังไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่จัดซื้อเร่งด่วนเมื่อ 6 เดือนก่อน จะมีการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.ในประเทศหรือไม่
“ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานมีการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำบัตรเพื่อต่ออายุการทำงานจากการใช้เทอร์โมสแกนพบว่ามี 10 รายที่มีไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้โรงพยาบาลไปตรวจซ้ำปรากฎว่ามีไข้สูงจริงเพียง 2 ราย ดังนั้นหน่วยงานที่มีและใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ ควรมีการตรวจสอบเพื่อให้มีมาตรฐานน่าเชื่อถือได้ ขณะนี้ยอมรับว่ายังไม่มีองค์กรใดดำเนินการตรวจสอบเครื่องเทอร์โมสแกน เพราะเดิมการวัดไข้มีการใช้ปรอทและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัดก็ไม่ได้รับทำเรื่องนี้ ดังนั้นจะต้องสอบถามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าเห็นสมควรดำเนินการอย่างไร หากมีข้อแนะนำหรือมีวิธีการตรวจสอบที่ชัดเจน สสจ.จะเชิญทุกองค์กรที่มีเครื่องตรวจเทอร์โมสแกนนำมาทำการทดสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพการใช้งาน ” นายแพทย์สุริยะ กล่าว
นายแพทย์สุริยะ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ยืนยันว่าในจังหวัดยังปลอดภัย แต่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่หลายฝ่ายดูแลพื้นที่ชายแดนอย่างเต็มที่ และหากพบว่ามีปัญหาสาธารณสุขจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าไปในพื้นที่นั้นทันที ขณะที่คนไทย 5 รายที่ อ.หัวหินที่เดินทางไปประเทศเมียนมาผลการกักตัว 14 วันตรวจไม่พบเชื้อ สำหรับการปิดโรงเรียนไม่ควรปิดจากข่าวลือ ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ 26 จังหวัดภาคกลาง ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือถึงทุกโรงเรียนหากมีข้อสงสัยให้สอบถามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ก่อน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้มีการจัดตั้งทีมตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลประเภทเฟกนิวส์ในสังคมโซเชียลที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก หลังจากเจอการเสนอข้อมูลเท็จ 2 ครั้ง
พิสิษฐ์ รื่นเกษม/ข่าว/จังหวัดประจวบคีรีขันธ์