กาญจนบุรี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร ลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อลดต้นทุนและความเสียหายจากอากาศที่แปรปรวน ทำให้มีฝนตก
วิถีชีวิตชาวบ้านโจ่คีพื่อ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี การทำนาข้าวต่างกับชาวนาทั่วๆ ไป เพราะเป็นการปลูกข้าวบนภูเขา ไม่ใช่ปลูกข้าวในแปลง ดังนั้นความมุมานะ ความอดทนต้องมีมากกว่าการทำนาทั่วไป และเริ่มลงแรงเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่นี่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ข้าวไร่ที่ชาวบ้านได้เริ่มหยอดไว้ในไร่ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จะเริ่มสุกจนทำให้ข้าวในไร่ที่เคยเขียวขจีเปลี่ยนแปลงท้องทุ่งที่เหลืองอร่าม ชาวบ้านที่นี่จะเริ่มวางแผนในการเก็บเกี่ยวโดยดูจากข้าวในแต่ละไร่ว่า ไร่ไหนรวงข้าวเหลืองจัด จนได้ที ก็จะเริ่มจากไร่นั้นก่อน โดยใช้วิธีการลงแรงช่วยกันเก็บเกี่ยว จนกว่าจะเสร็จทุกไร่
วันนี้ 28 พ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านสะเนพ่องกว่า 30 คนทั้งชายและหญิง ได้มาลงแรงเกี่ยวข้าวที่ไร่ของ นางมะลิ ไม่มีนามสกุล ซึ่งเลือกพื้นที่ทำไร่ในพื้นที่ป่า ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ในฐานะเจ้าของไร่ เช้าวันนี้ นางมะลิ ได้เตรียมน้ำดื่ม กาแฟ และทำกับข้าว ซึ่งได้จากการเก็บผัก หลายชนิด ที่ปลูกไว้ในไร่ข้าว มาทำแกงไว้สำหรับเพื่อนบ้านทุกคน ที่มาช่วยเกี่ยวข้าว กิน ที่ขาดไม่ได้คือน้ำพริกกะเหรี่ยงของโปรดของทุกคน
ซึ่งการลงแรงเกี่ยวข้าวของที่นี่ ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต โดยมีข้อดีก็คือ ทำให้การเก็บเกี่ยวใช้เวลาไม่นาน และมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์จำพวกหมูป่าและหนูป่า ที่คอยทำลายกัดกินสร้างความเสียหายน้อยลง……มีเสียง……นายคาราบาว ชาวบ้านหมู่บ้านโจ่คีพื่อ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่ห่างไกล ไม่มีร้านค้า ชาวบ้านที่นี่ทุกครอบครัวจึงปลูกข้าวไว้บริโภคกันเอง โดยอาศัยองค์ความรู้ในเรื่องการทำไร่หมุนเวียนที่สั่งสมกันมา จากรุ่นสู่รุ่น ข้าวที่ชาวบ้านปลูก จะเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่ได้จากการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง หรือได้จากการแบ่งปันกันในชุมชน โดยที่ไม่ต้องไปซื้อหา พันธุ์ข้าวที่เลือกเป็นพันธุ์ข้าวที่ใช้น้อย อาศัยเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ในการทำไร่ข้าวก็จะเลือกจากพื้นที่ป่ารอบๆหมู่บ้าน เพื่อสะดวกในการดูแลระหว่างการเพาะปลูก และใช้พื้นที่ไม่มาก โดยพื้นที่ที่เลือกทำไร่ข้าว จะต้องเป็นพื้นที่มีความลาดเอียง และเป็นพื้นที่ป่าไผ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ลักษณะดังกล่าวจะมีดินที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะกับพันธุ์ข้าวที่มี โดยอาศัยปุ๋ยที่ได้จากการเผาไม้ไผ่ ซึ่งการทำนาของชาวทุ่งใหญ่ต่างกับการทำนาทั่วๆ ไป เพราะปลูกข้าวบนภูเขาไม่ใช่ปลูกในแปลงเหมือนกับการทำนาทั่วไป
ส่วนความลาดเอียงของพื้นที่ไร่ จะช่วยทำให้วัชพืชในไร่ข้าวเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาจะพัดพาเมล็ดวัชพืชที่อยู่ในพื้นที่ไร่ ไหลไปกับน้ำลงไปยังพื้นที่ราบด้านล่าง ทั้งนี้การทำไร่ข้าวในระบบไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยง จะไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้าและสารเคมีใดๆ ส่วนการกำจัดวัชพืชจะใช้วิถี การถอนหรือการใช้มีด จอบ ในการกำจัดวัชพืช ก่อนนำไปทิ้งไว้รอบๆไร่ จึงทำให้ไร่ข้าวของคนกะเหรี่ยง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านที่นี่ได้กินข้าวที่ปลอดสารเคมี ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของชาวบ้านที่นี่ นอกจากในไร่ข้าว จะปลูกข้าวแล้ว ชาวกะเหรี่ยงที่นี่ ยังนิยมปลูกผัก จำพวก เผือก ฟังเขียว ฟักทอง แตงไทย บวบ รวมทั้งพริกกะเหรี่ยงไว้ในไร่ข้าว เพื่อเก็บไว้กินและประกอบเป็นอาหารไว้ถวายพระ ในงานบุญต่างๆอีกด้วย
ผลจากการไม่ใช้สารเคมี ทำให้ในไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสังเกตได้จากการพบแมลงต่างที่อยู่ในธรรมชาติ รวมทั้งพันธุ์ไม้ในธรรมชาติ ที่ยังคงพบเห็นได้ในไร่ข้าวของชาวบ้านที่นี่ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเก็บเกี่ยว พื้นที่ไร่ข้าวก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้ ให้ค่อยๆปรับสภาพกลับมาเป็นป่าในระยะเวลา3-4 ปีพื้นที่แห่งนี้ก็จะกลับมาเป็นพื้นที่ป่า เพื่อให้ชาวบ้านได้กลับมาทำไร่ปลูกข้าวไว้กินอีกครั้ง ตามวงรอบของการทำไร่ข้าว ในรูปแบบของไร่หมุนเวียน ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศให้ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี