พะเยา-ลูก หลานคนเหนือ สืบสานวัฒนธรรม ประเพณี ทำ “ไม้กำสะหรี” ทำบุญวันพญาวัน
ช่วงเช้า วันนี้ ( 15 เมษายน 2564 ) ประชาชนทางภาคเหนือถือว่าเป็นวันมาฤกษ์ มหาชัย ที่เรียกว่าวัน “ วันพญาวัน “ ซึ่งประชาชนชาวภาคเหนือจะมีพิธีถวายไม้ค้ำต้นโพธิ์ หรือทางเหนือเรียกว่า “ ไม้กำสะหรี “ ,” ไม้กำศรี “ แล้วแต่พื้นถิ่น มีความเชื่อตามคติล้านนาว่าการตานหรือถวายไม้ก้ำสะหรีจะได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่คือ ชีวิตจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเทวาอารักษ์คอยปกปักรักษา “ อุ้มชู “ ไว้ ซึ่งคำว่าอุ้มชู ตรงกับภาษาเหนือคือ “ ก้ำ “ หรือค้ำนั่นเอง
นายหาญ ธรรมโม อายุ 73 ปี กล่าวว่า ในทุกๆปีลูกหลานจะมาจากจังหวัดนครพนม เพื่อมาดำหัว จึงอยากให้เขาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ทางเหนือไว้บ้าง จึงสอนให้ทำไม้ก้ำสะหรี ทำขนมจ๊อกหรือขนมเทียนตามแบบฉบับคนเหนือ โดยเตรียมวัตถุดิบมาไว้ให้ อะไรที่เด็กๆสามารถทำได้เองก็ปล่อยเขาทำตามแต่จินตนาการของเขา เพื่อให้เขาเกิดความสนุกสนานในการทำงานและซึมซับวิถีวัฒนธรรมนี้ไว้โดยไม่ต้องไปบังคับเขา เมื่อเขาทำเสร็จก็ให้เขานำไปถวายวัด นำไปค้ำต้นสะหรีเอง
น.ส.กันติชา ทาทาน น้องต่าย น้องพลอย ด.ญ.ณัฐกานต์ ธรรมโม หลานสาว เปิดเผยว่า ในทุกๆปีบุญปู่หาญ จะชวนทำไม้ค้ำศรี โดยหาไม้ง่าม และกระดาษสีสันสวยงามไว้ให้ แนะนำวิธีติดประดาษอย่างไรให้สะดวก สวยงาม จากนั้นก็ปล่อยให้ได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ จะติดกระดาษสีอะไร ตรงไหน ก็ได้ตามใจเราแต่ต้องสวยงามเพราะต้องนำไปถวายวัด เราจึงต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด จากนั้นก็ฝึกให้ห่อขนมเทียนซึ่งพวกเราก็ต้องทำให้สวยงาม ขนาดพอดีคำ เพราะต้องนำไปถวายวัดพร้อมๆกับถวายไม้ค้ำสะหรีในวันที่ 15 เมษายน หรือวันพญาวันของทางเหนือนั่นเอง
สำหรับไม้ค้ำสะหรี มีหลายขนาด ตามแต่ใจคนที่จะทำ แต่โดยมากจะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ไม่ยาวมากอยู่ระหว่าง 2-4 เมตรโดยเฉลี่ย ปลอกเปลือกไม้ออกแล้วทาด้วยกาวลาเท็กซ์หรือกาวแป้งเปียกแล้วพันด้วยกระดาษสีสันฉูดฉาดหลากสี และนำไปถวายวัดก่อนที่จะนำไปค้ำต้นโพธิ์หรือต้นไม้ใหญ่ที่สุดภายในบริเวณวัด
(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )