ราชบุรี – เกษตรกรโอด ด้วงสาคูเข้าทำลายสวนอินทผาลัมเสียหาย 5 แสน
วันที่ 26 มิ.ย.64 นายวินัย เกษมศรี อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอินทผาลัมในพื้นที่ หมู่ที่ 11 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ได้พาผู้สื่อข่าว สภาพโคนต้นอินทผาลัมภายในสวนของตน ที่เป็นโพรงลึกจนเกือบทะลุต้น อันเกิดจากการกัดกินทำลายของด้วงสาคู หรือ ด้วงงวงมะพร้าว แล้วทิ้งเศษซากพ่อแม่พันธุ์ที่ตายแล้วอยู่ในโพรงไว้ให้ดูต่างหน้า ทำให้คุณภาพผลอินทผาลัม ไม่ผ่านมาตรฐาน ผลบิดเบี้ยว ผิวเปลือกมีตำหนิ ไม่ได้น้ำหนัก ขายไม่ได้ราคา บางต้นจำต้องตัดงวงทิ้งทั้งหมดเพื่อรักษาต้นพันธุ์เอาไว้ไม่ให้ยืนต้นตาย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรหลายผู้ปลูกอินทผาลัมหลายแสนบาท
นายวินัย กล่าวว่า ตนปลูกอินทผาลัม สายพันธุ์บาฮี มาแล้ว 6 ปี บนเนื้อที่ 15 ไร่ จำนวน 300 ต้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและค่าแรงงานอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี หลังจากผ่านไปได้ 3 ปี จึงเริ่มเก็บผลผลิตออกจำหน่ายได้ ในอินทผาลัม 1 ต้น จะให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150 – 200 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายเริ่มตั้งแต่กิโลกรัมละ 350 – 500 บาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ราคาต้นละ 50,000 – 1 แสนบาท ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ
ที่ผ่านมา ในแต่ละปีอัตราการพบด้วงในสวนมีเพียง 1 – 2 ต้นเท่านั้น แต่ทว่าในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ กลับพบการเข้าทำลายของด้วงเพิ่มมากผิดปกติถึงกว่า 10 ต้น มูลค่าความเสียหายกว่า 500,000 บาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสาเหตุที่มีด้วงเพิ่มขึ้นเกิดจากอะไร ทั้งๆ ที่ตนสอดส่องดูแลต้นเป็นอย่างดีมาตลอด โดยลักษณะการเข้าทำลายหากเป็นอินทผาลัมต้นใหญ่ จะพบที่บริเวณโคนต้น ส่วนในต้นขนาดเล็ก จะพบที่บริเวณยอด ซึ่งกว่าที่จะสังเกตพบ ก็มักจะสายเกินไป ยืนต้นตายไปแล้ว
นายวินัย กล่าวต่อว่า ตนและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอินทผาลัมได้ทราบว่า เริ่มมีผู้สนใจหันมาทำอาชีพเพาะเลี้ยงด้วงสาคูกันเพิ่มขึ้นในจ.ราชบุรี ทางเกษตรกรผู้ปลูกอินทผาลัมต่างวิตกกังวล เนื่องจากด้วงสามารถทำลายต้นอินทผาลัมได้ โดยแต่ละต้นต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน มีต้นทุน และมูลค่าสูงมาก แต่จะไปห้ามไม่ให้เพาะเลี้ยงด้วงสาคูก็คงทำไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา จึงอยากให้กลุ่มผู้เลี้ยงด้วงมีมาตรการป้องกันไม่ให้พ่อแม่พันธุ์หลุดรอดออกมาสู่ระบบธรรมชาติได้ และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการเพาะเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกษตรกรกระทบสิทธิ์ซึ่งกันและกัน
สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี