วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568

เทคโน’อุตฯ มรภ.สงขลา ใช้เทคโนโลยีช่วยทุ่นแรงผสมแป้งทำขนมเจาะหูสืบสานประเพณีสารทเดือนสิบท้องถิ่นใต้-สร้างรายได้ชุมชน

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา
เทคโน’อุตฯ มรภ.สงขลา ใช้เทคโนโลยีช่วยทุ่นแรงผสมแป้งทำขนมเจาะหูสืบสานประเพณีสารทเดือนสิบท้องถิ่นใต้-สร้างรายได้ชุมชน


คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีทุ่นแรงผสมแป้งทำขนมเจาะหู ขนมคู่ประเพณีสารทเดือนสิบท้องถิ่นใต้ หวังลดเวลาเตรียมวัตถุดิบ ช่วยชุมชนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว

ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่าโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นและภูมิภาค ครั้งที่ 11 สาธิตทำขนมเจาะหู ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม Zoom ที่ ลานอเนกประสงค์ อาคาร 74 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ทางคณะฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสืบสานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงได้เชิญวิทยากร นางมณฑา เพชรสุวรรณ์ บุคลากรสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำขนมพื้นบ้านภาคใต้ มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง ความเป็นมาและขั้นตอนการทำขนมเจาะหู พร้อมทั้งสาธิตการทำขนมเจาะหู โดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาช่วยทุ่นแรงในการผสมแป้ง ช่วยลดเวลาในการเตรียมแป้งสำหรับทำขนมเจาะหู ทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
ดร.ศรีวรรณ ขำตรี ผู้ช่วยคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ยังกล่าวว่า ขนมเจาะหูเป็นหนึ่งในขนมที่ใช้ในการจัดหฺมฺรับ หรือสำรับ ในประเพณีสารทเดือนสิบของคนใต้ หรือที่คนคุ้นเคยว่างานทำบุญชิงเปรต เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และผู้ที่ตกนรกหรือเรียกว่าเปรต จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติ ของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ (10) และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ โดยในงานบุญเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราชจะเรียกขนมเจาะหูว่า ขนมดีซำ มีความหมายแทนเงินหรือเบี้ย เพราะมีลักษณะคล้ายกับเบี้ยหอย แต่จังหวัดอื่นๆ ก็จะเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ขนมเบซำ และขนมเจาะรู
ทางด้าน ผศ.วีรชัย มัฎฐารักษ์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า ด้วยความสำคัญดังกล่าวคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น โดยได้ประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนในรายวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมเพื่อชุมชน ซึ่งอาจารย์ผู้สอนได้ให้โจทย์นักศึกษาในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ปัญหาชุมชน โดยงานกลุ่มดังกล่าวมี นายสุริยา สิงเนี่ยว นายพงศธร สยมพร นายวัชรพล สุวรรณชาตรี และ นายนที นวลแก้ว สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม (ต่อเนื่อง) ได้นำเสนอการแก้ปัญหาการผสมแป้ง เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและส่งเสริมการผลิตของผลิตภัณฑ์ขนมเจาะหูเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สืบทอด อนุรักษ์และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ให้นักศึกษา มรภ.สงขลา และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

Loading