วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

นาย ภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)

วันนี้ นาย ภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ร่วมกับจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VCS)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผอ.โครงการชลประทานจังหวัด นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายอำเภอผักไห่ นายอำเภอเสนา นายอำเภอบางบาล หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ จากห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับคณะกรรมการฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VCS) เพื่อติดตามและเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ร่วมกับจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง
โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ถือว่ามีน้ำน้อย แต่มีอิทธิพลจากมรสุม ทำให้เกิดฝนตกหนักเต็มพื้นที่ท้ายเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องเตรียมการบริหารจัดการรับน้ำ-พร่องน้ำ ให้อยู่ในปริมาณเหมาะสม ซึ่งหากฝนตกหลังเขื่อน จะไม่มีที่กักเก็บน้ำ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประสานงานบูรณาการกับ กอนช หากฝนตกหนักในพื้นที่ใดให้เตรียมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่เสี่ยงนั้นๆ ทั้งในส่วนการเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าตอนนี้น้ำในเขื่อนยังน้อย จะต้องมีน้ำปริมาณเท่าไหร่ จึงจะต้องประกาศเตือนภัย หากเกิดปัญหาน้ำหลาก-น้ำล้น การช่วยเหลือของภาครัฐ ภาครัฐและภาคประชาชนจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร โดยขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารจากกรมชลประทาน กอนช และ GISTDA เพื่อสร้างการรับรู้ให้เพิ่มช่องหอกระจายข่าว วิทยุชุมชน และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในพื้นที่

หลังการประชุม นายภานุ แย้มศรี ได้มอบหมายให้แต่ละอำเภอ กำหนดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรายงานระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำสุดผ่านช่องทางไลน์ ด้วยภาพและบุคคล พร้อมให้รายงานทันทีเมื่อฝนตกกระทบกับพื้นที่ และให้ทุกอำเภอมีจุดสังเกตน้ำพื้นที่ของตนเอง แบ่งเป็นระดับเขียว เหลือง แดง และให้รายงานช่วงเช้า-เย็น ของทุกวัน โดยการสื่อสาร 2 ทาง และให้อำเภอร่วมกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง วางระบบการแจ้งเตือน ระดับหมู่บ้าน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่พร้อมเบอร์ติดต่อ รวมทั้งตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบคมนาคม หากมีน้ำท่วมขึ้นกระทันหัน จะแก้ปัญหาอย่างไร ให้ทันต่อเหตุการณ์
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา

Loading