วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

นิพนธ์ ชี้ ท้องถิ่น คือหน่วยงานหลัก ช่วยลดสถิติอุบัติเหตุฯเร่งสร้างความร่วมมือบูรณาการร่วมทุกภาคส่วน ปลูกจิตสำนึกวินัยจราจร ตั้งเป้าลดความสูญเสียทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา
นิพนธ์ ชี้ ท้องถิ่น คือหน่วยงานหลัก ช่วยลดสถิติอุบัติเหตุฯเร่งสร้างความร่วมมือบูรณาการร่วมทุกภาคส่วน ปลูกจิตสำนึกวินัยจราจร ตั้งเป้าลดความสูญเสียทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบนโยบาย โครงการความปลอดภัยทางถนน “สงขลาเมืองต้นแบบ” พัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน จากจังหวัดสู่อำเภอ และตำบล โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา นายอำเภอทั้ง 16 อำเภอ หน.สนง.ปภ.สงขลา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นจังหวัด ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฯ ณ อาคารศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

โดยที่จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคใต้และมีศักยภาพในด้านต่างๆอย่างสูง แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนน ยังเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงและได้รับผลกระทบความสูญเสียมากขึ้นในด้านชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคง ทางถนนให้เป็นรูปธรรมโดยความมุ่งหวังที่จะสร้างเมืองสงขลาเป็นต้นแบบของการบูรณาการดำเนินการในการลดอุบัติเหตุทางถนน ให้เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน และให้มีการขับเคลื่อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่จะสร้างแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย นำไปเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป

นายนิพนธ์ รมช.มท. กล่าวว่า วันนี้อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนน เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปีพ.ศ. 2573 โดยตั้งเป้า

หมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้น การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน จึงเป็นวาระมีความสำคัญระดับโลก รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก ประมาณการอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรในประเทศไทยปี พ.ศ.
2559 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 32.70 มากกว่า 22,000 คนต่อปี แม้ว่าจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องปัญหาอุบัติเหตุ จากการใช้รถใช้ถนน ของประเทศไทย ก็ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของประเทศ จากสถิติที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฏหมาย และปัญหาทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานของถนน ปัญหาการเสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ก็ยังเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย

รมช.มท.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปี พ.ศ. 2564 รัฐบาล โดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดประเด็นเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง โดยเป้าหมายหลักคือ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน โดยใช้ ,Songkhla Model หรือสงขลาต้นแบบ ในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานความร่วมมือกัน โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกที่ดี การสร้างระเบียบวินัยในการขับขี่ให้กับประชาชนในท้องถิ่น เช่นเมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว หรือ การสวมหมวกกันน็อคก่อนขับรถบนท้องถนน รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจเส้นทางจุดเสี่ยงทั้งหลาย ที่ท้องถิ่นรับผิดชอบ ซึ่งในประเทศไทยเรามีถนนทั่วประเทศ 700,000 กิโลเมตร เป็นของกรมทางหลวง 50,000 กิโลเมตร

 

เป็นของทางหลวงชนบท 47000 กม. อีก 600,000 กว่ากิโลเมตรอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นการที่จะให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็น วันนี้ตำบลต้องขับขี่ปลอดภัย ถ้าสามารถทําให้ทุกตำบลในประเทศไทยปลอดภัย ประชาชนก็สามารถขับขี่ปลอดภัยได้ อย่างน้อยให้การเกิดอุบัติเหตุจากการสูญเสียลดลง สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการสร้างการรับรู้ ความตระหนัก ด้านความความปลอดภัยทางถนนของในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งติดตามและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยน เรียนรู้

ประสบการณ์ ปัจจัยสู่ความสำเร็จและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพของพื้นที่ และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอ และท้องถิ่น ร่วมดำเนินการโดยผ่านช่องทางระบบการทำงานต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งจะสามารถประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ จะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างตำบลขับขี่ปลอดภัย”

Loading