วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

ผวจ.นราธิวาสประธานพิธีปิดมหกรรมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน

ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานพิธีปิดมหกรรมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน และมอบเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันทั้ง 12 สาขา รวม 66 คน ระบุ ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้พัฒนาตนเองด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ


คืนวันที่ (27 เม.ย.60) เวลา 20.00 น.นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานพิธีปิดมหกรรมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน และมอบเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขัน ที่เวทีกลางงานกาชาดและงานประจำปีจังหวัดนราธิวาส ภายในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 หรือ สวน ร.5 ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมืองนราธิวาส พร้อมกล่าวว่า เชื่อว่าการจัดมหกรรมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนได้มีการพัฒนาตนเอง ทั้งด้านความรู้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้านทักษะ เป็นการสะสมประสบการณ์จนเกิดความชำนาญ มีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานได้อย่างมีคุณภาพตามข้อกำหนด ถูกขั้นตอน และเสร็จตามเวลาที่กำหนด และเจตคติ จะต้องมีจิตสำนึกในการทำงานที่ดี ประกอบด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพ

ด้านนางทิวาพร กาญจนะกิติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส กล่าวว่า จากการจัดงานมหกรรมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานจังหวัดนราธิวาส ให้กับกลุ่มช่างฝีมือ ผู้รับเหมา นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้มีเวทีสำหรับแสดงฝีมือ ทักษะ ความรู้ความสามารถ จำนวน 12 สาขา ได้แก่ สาขาช่างก่ออิฐ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเชื่อมไฟฟ้าด้วยมือ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างสีรถยนต์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ผู้ประกอบการอาหารไทย การเขียนแบบด้วยโปรแกรม Auto CAD การออกแบบเว็บไซด์และการออกแบบกราฟฟิก ทั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัล รวมทั้งสิ้น 66 คน แยกเป็นรางวัลชนะเลิศ จำนวน 11 คน รางวัลรองชนะเลิศ ลำดับที่ 1 จำนวน 13 คน รางวัลรองชนะเลิศ ลำดับที่ 2 จำนวน 16 คน และรางวัลชมเชย จำนวน 26 คน

สำหรับการจัดมหกรรมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานจังหวัดนราธิวาส ทางจังหวัดนราธิวาส ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1,315,000 บาท ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และโมเดลการพัฒนา Thailand 4.0 ของประเทศ ตลอดจนเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานและทักษะที่สูงขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการนำเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นเกณฑ์ในการทดสอบหรือแข่งขัน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ สถาบันฝึกอบรมด้านอาชีพ ภาคเอกชนในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและคัดเลือกช่างฝีมือเพื่อปฏิบัติงานต่อไป

 

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ

Loading