การทอผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตา-สี-ทะ-วา-ระ-วะ-ดี) และให้กำลังใจกลุ่มผู้ทอผ้าศรีอุทุมพร พร้อมทั้งอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอมือด้วยกี่กระตุกลายโบราณของชาติพันธุ์ลาวครั่ง และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากผ้าทอ
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันโท ดร.สินธพ แก้วพิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต 1 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อเข้าเยี่ยมชม การทอผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตา-สี-ทะ-วา-ระ-วะ-ดี) และให้กำลังใจกลุ่มผู้ทอผ้าศรีอุทุมพร พร้อมทั้งอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอมือด้วยกี่กระตุกลายโบราณของชาติพันธุ์ลาวครั่ง และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากผ้าทอ
เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอมือให้คงอยู่ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) และกระตุ้นส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นอัตลักษณ์สะท้อนถึงมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีและประวัติศาสตร์ชาติไทยที่งดงามให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม วัดโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยมีนางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม นายยุทธนา โพธิวิหค นายอำเภอเมืองนครปฐม นายกมนพรรธน์ บ่อแก้ว ผู้นำกลุ่มทอผ้าฯ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ
ผ้าไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยโดยการถ่ายทอด ภูมิปัญญา กรรมวิธี และเทคนิคการผลิต ที่มีลักษณะ รูปแบบ ลวดลาย และสีสันตามความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น สืบทอดมาแต่บรรพกาลต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน อันเป็นเครื่องบ่งชี้ ที่แสดงถึงความเด่นและดีงามเฉพาะที่ร่วมกันของชาติไทย และเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และการสวมใส่ผ้าไทย หรือผ้าพื้นเมืองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563
จังหวัดนครปฐม โดยคณะกรรมการดำเนินงานค้นหาและพัฒนา “อัตลักษณ์ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ประจำจังหวัดนครปฐม” ได้พิจารณาคัดเลือกลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” หมายถึง จังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณ ธัญญาหาร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีองค์ประกอบลายหลัก คือลายหม้อน้ำปูรณฆฏะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงการกำเนิดชีวิตที่มีความสมบูรณ์ มั่งคั่ง โดยลวดลายดังกล่าวปรากฏอยู่บนเหรียญตราและประติมากรรมประดับบนโบราณวัตถุสมัยทวารวดี และมีลายประกอบคือกวางหมอบอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา ผสมกับลายเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์