นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา
สคร.12 สงขลา เตือน ผู้ทำงานใกล้ชิดลิง หรืออยู่อาศัยแนวชายป่า
ระวังไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” แพร่เชื้อจากลิงสู่คนได้
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนผู้ที่ทำงานใกล้ชิดลิงหรืออยู่อาศัยแนวชายป่า มีโอกาสป่วยเป็นโรค ไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” Plasmodium knowlesi (Pk) ที่ติดต่อจากลิงสู่คน โดย ยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว
ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์ ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยไข้มาลาเรียในปี 2565 (ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม 2565 – 3 พฤษภาคม 2565) จำนวน 1,182 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.018 ต่อพันประชากร โดยพบผู้ป่วยแยกตามชนิดของเชื้อ มากที่สุดคือ ชนิด Plasmodium vivax (Pv) จำนวน 1,044 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.32 รองลงมา คือ ชนิด Plasmodium knowlesi (Pk) จำนวน 66 ราย (ร้อยละ 5.58) และชนิด Plasmodium falciparum (Pf) จำนวน 26 ราย (ร้อยละ 2.20)
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรค ไข้มาลาเรียในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 พบว่าในปี 2565 (ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม 2565 – 3 พฤษภาคม 2565) มีรายงานผู้ป่วยไข้มาลาเรีย จำนวน 45 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดคือ จังหวัดยะลา มีอัตราป่วย 0.034 ต่อพันประชากร (18 ราย) รองลงมาคือ จังหวัดสตูล อัตราป่วย 0.016 ต่อพันประชากร (5 ราย) จังหวัดสงขลา อัตราป่วย 0.012 ต่อพันประชากร (17 ราย) และจังหวัดนราธิวาส อัตราป่วย 0.006 ต่อพันประชากร (5 ราย) ทั้งนี้ จังหวัดตรัง พัทลุง และปัตตานี ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในปี 2565 ทั้งนี้ พบสัดส่วนของผู้ป่วยแยกตามชนิดของเชื้อ พบว่าเชื้อชนิด Plasmodium vivax (Pv) มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 และชนิด Pk จำนวน 18 ราย (ร้อยละ 40) โดยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 1 ราย ชนิด Plasmodium knowlesi (Pk) ในพื้นที่จังหวัดสงขลา
สคร.12 สงขลา ได้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้มาลาเรียมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายกำจัดมาลาเรียของกรมควบคุมโรค สำหรับไข้มาลาเรียชนิด Plasmodium knowlesi (PK) เป็นเชื้อมาลาเรียในลิงที่นำเชื้อมาสู่คนได้
โดยยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน แต่ยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อจากคนไปสู่คน พบมากในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เชื้อชนิดนี้มีการแบ่งตัวในร่างกายคนได้เร็วและมากกว่าเชื้อชนิดอื่น ทำให้มีอาการคือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก โดยในประเทศไทยเริ่มมีรายงานการพบ ในหลายจังหวัด สำหรับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 เริ่มมีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2559 โดยพบผู้ป่วยจำนวนประปราย และเริ่มพบมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยไข้มาลาเรีย ชนิด Plasmodium knowlesi (PK) ส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางและพักแรมในป่า หรือทำสวนในบริเวณเชิงเขาที่มีลิงอาศัยอยู่ในพื้นที่
สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเอง โดยไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง