อาจารย์สาขาวิศวะฯสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ ม.มหิดล เสนอ 6 แนวทางเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ให้หวานอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ดังนี้
ในช่วงรุ่งโรจน์ ประเทศไทยเป็นอู่น้ำตาลที่สำคัญของโลก การผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายสร้างรายได้หลายแสนล้านบาทเข้าสู่ประเทศในแต่ละปี อีกทั้งยังขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เอทานอล กระดาษ เป็นต้น รัฐบาลออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 สนับสนุนให้มีการแทรกแซงและอุดหนุนตลาดน้ำตาล แม้ว่าข้อกฎหมายดังกล่าวกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลทั้งระบบ แต่เป็นการแทรกแซงราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้เกิดการฟ้องร้องจากประเทศคู่แข่งทางการค้า และประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนกฎหมายอีกครั้ง
ความเปราะบางมาเยือน ในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศ อาทิ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลที่ลดการอุดหนุนภาคการผลิต สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาปุ๋ยเคมีนำเข้าสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แสงสว่างที่ปลายทาง รัฐบาลไทยมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์กรสหประชาชาติโดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular Green Economy (BCG) อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อน BCG โดยผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ในภาคการผลิตพลังงาน เช่น เอทานอลจากกากน้ำตาล เชื้อเพลิงแข็งจากชีวมวลกากอ้อย หรือก๊าซชีวมวลจากการหมักน้ำกากส่า ผลพลอยได้ส่วนอื่น เช่น กากหม้อกรอง น้ำกากส่าที่ผ่านการหมัก ก็ยังสามารถนำไปใช้เพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตรกรรมเพื่อลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและปรับปรุงดิน มีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากโรงงานน้ำตาลสามารถเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้
ประเด็นที่ท้าทายที่ภาครัฐควรจะนำไปพิจารณาเพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเป็นไปอย่างยั่งยืน ดังนี้
1.สร้างความชัดเจนในประเด็น “ของเสียอุตสาหกรรม” และ “ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรม” รวมทั้งกำหนดแนวทางการจัดการที่เหมาะสม เปิดช่องเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์สูงสุดจากผลพลอยได้หรือของเสียอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการพิจารณาขับเคลื่อนกฎหมายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2.สร้างกลไกในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยอาจส่งเสริมให้เอกชนหรือสถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการดำเนินงานดังกล่าว และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม
3. วางแผนการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กระจายตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างทั่วถึง
4. ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์ผลพลอยได้หรือของเสียอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม
5.ดำเนินนโยบายการป้องกันการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดควบคู่กับนโยบายเสริมแรงเชิงบวก
6. ส่งเสริมเกษตรกรแปลงเล็กให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว โดยอาจจัดอยู่ในรูปสหกรณ์หรือสมาคม ทั้งนี้เกษตรกรแปลงเล็กมีต้นทุนในการเพาะปลูกต่อพื้นที่สูงกว่าเกษตรกรแปลงใหญ่ และมีความเปราะบางต่อความผันผวนจากปัจจัยภายนอกสูงกว่า
ซึ่งการศึกษาข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็นความร่วมมือกับ University of York สหราชอาณาจักร ได้รับการสนับสนุนจาก British Council ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) ปีงบประมาณ 2564-2565