สวนโชคสมบูรณ์ เกษตรอินทรีย์ พูลสุข จากหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตรสู่วิถีเกษตรอินทรีย์พอเพียง สืบสานแนวพระราชดำริ
นายโชคดี ตั้งจิตร อยู่บ้านเลขที่ 55/1 หมู่ 8 ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้ตั้งใจแน่วแน่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยนำความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ ปลูกเอง แปรรูปเอง ขายเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต คนปลูกปลอดภัย ผู้บริโภคย่อมปลอดภัย ถึงจะเกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงถ่ายทอดความรู้ไปสู่พี่น้องเกษตรกร
เริ่มทำการเกษตร พ.ศ. 2558 เนื้อที่ทำการเกษตรประมาณ 10 ไร่ แรกเริ่มทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำนาข้าว ส่งให้โรงสี โรงสีเป็นผู้กำหนดราคา ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการบริหารจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย บ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ใช้สปริงเกอร์รดน้ำช่วยประหยัดน้ำ นาข้าว ปลูกข้าวหอมปทุมธานี 1 และข้าวหอมมะลิ ปลูกไม้ผล เช่น มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ ฝรั่งกิมจู ขนุน ผักพื้นเมือง ชะมวง เป็นต้น ปลูกผักสลัดยกแคร่ ใช้แสลนคลุม ช่วยลดปัญหาด้วงหมัดผัก น้ำค้าง น้ำฝน ป้องกันหอยทากเข้าทำลาย พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีทั้งปลูกพืชระยะสั้นและระยะยาว ปรับเข้าสู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS : Participatory Organic Guarantee System คือ การรับประกันคุณภาพผลผลิตอินทรีย์โดยชุมชน ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมวิถีชีวิตวัฒนธรรม และ การเกษตรของท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายการผลิตเพื่อจําหน่ายในชุมชน หรือ จําหน่ายตรงเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีหน่วยงานและกลุ่มเครือข่ายร่วมมือกันในการดำเนินงาน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 รพ.สต.นางแก้ว อำเภอโพธาราม กลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี กลุ่มเกษตรอินทรีย์ปากท่อร่วมใจ กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม เป็นต้น ปัจจุบันได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยได้ 100 % โดยจังหวัดราชบุรีได้จัดตั้งสวนโชคสมบูรณ์เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ประจำจังหวัดราชบุรี และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาความยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก หลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ของคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเปิดโอกาสให้เกษตรกร เยาวชน ผู้สนใจ ทั้งในและต่างประเทศได้เข้ามาร่วมเรียนรู้
ใช้หลักตลาดนำการผลิตให้มีรายได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ และรายเดือน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวอินทรีย์ แปรรูปเป็นข้าวสาร บรรจุถุง มีทั้งข้าวกล้อง ข้าวขาว ซึ่งเป็นข้าวใหม่ไม่ข้ามปี เป็นข้าวที่มีชีวิต ไม่รมสารเคมีใด ๆ ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเหมาะกับผู้รักสุขภาพ ขายสิ่งดี ๆให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ การแปรรูปข้าวยังได้แกลบ ได้รำ ได้ปลายข้าว ได้ฟางข้าว ของแหลือใช้นำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในสวนอีกด้วย ลดปัญหาขยะ ลดต้นทุนการผลิต ของเหลือใช้ในสวนเป็นศูนย์ ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ได้นำแกลบมาเป็นวัสดุรองพื้นเลี้ยงไก่ไข่ ช่วยดูดทรัพย์กลิ่นมูลไก่ มีธาตุอาหารซิลิก้านำมาปลูกผักได้คุณภาพดีแข็งแรง ใบไม้ต่าง ๆ รวมกับฟางข้าว มูลไก่ทำปุ๋ยหมัก อีกทั้งมีการเลี้ยงแหนแดงไมโคฟิลล่า นำมาเป็นอาหารเสริมที่มีโปรตีนสูง ประมาณ 25-30 % ให้แก่ไก่ไข่ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ไก่ชอบมาก ถ่ายคล่องมูลไม่มีกลิ่น ไข่ไก่ที่ได้เนื้อไข่นูนเด่น ไข่สีแดงดี เปลือกหนา ขนส่งจะไม่แตกง่าย เลี้ยงไก่ไข่ทำให้มีรายได้ทุกวัน แถบช่วยกำจัดวัชพืชใต้ต้นไม้ด้วย จำหน่ายไข่ไก่ และผลผลิตในสวนแบบพรีออเดอร์ สั่งจองล่วงหน้า โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การถ่ายทอดความรู้ และการติดต่อสื่อสารให้สอดคล้องกับยุคสมัย และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ทั้งในกลุ่มไลน์ Facebook และ YouTube
แหนแดงไมโครฟิลล่า เป็นพืชตระกูลเฟิร์นชนิดลอยน้ำได้ นอกจากใช้เป็นอาหารเสริมให้ไก่ไข่แล้ว ยังช่วยลดต้นทุน ทดแทนการใช้ปุ๋ยในนาข้าว เนื่องจากกาบใบบนด้านหลังของแหนแดงมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ยังมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อหว่านแหนแดงไปในนา 1 ไร่ จะมีผลผลิตแหนแดง 3,000 กิโลกรัม (3 ตัน) เทียบได้กับปุ๋ยยูเรีย 7-10 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าว สามารถนำมาตากแห้งทำปุ๋ยในแปลงผักสลัด นำมาใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ได้ ทั้งนี้ ได้ทำการทดลองร่วมกับกรมวิชาการเกษตร แปลงที่ใส่แหนแดงไมโครฟิลล่าจะให้ผลลิตสูงกว่า อย่างมีนัยสำคัญ ดินร่วนซุยขึ้น มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้นอีกด้วย วิธีการเลี้ยงแหนแดงไมโครฟิลล่า ก็ไม่ยุ่งยาก ที่สวนโชคสมบูรณ์มีจำหน่ายกิโลกรัมละ 70 บาท นอกจากนี้ ยังมีการหว่านปอเทืองปุ๋ยพืชสด ไม่เผาตอซัง หมักฟางข้าว ลดมลพิษในอากาศ ใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และปลูกทองหลางรอบแปลง ร่วมด้วยสามารถลดต้นทุนได้จริง
หากท่านใดสนใจผลผลิตเกษตรอินทรีย์ พบกันได้ที่ตลาดเกษตรกร ทุกวันอังคารและศุกร์ ตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 11.00 น. ตรงข้ามโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จังหวัดราชบุรี, สำหรับสถานีออแกนิคราชบุรี เปิดจำหน่ายในวันเสาร์ ณ ปั๊ม ปตท. อัศวะ ถนนอู่ทอง อำเภอเมืองราชบุรี, วันอาทิตย์ พบกันที่โครงการพระราชดำริเขาชะงุ้ม และในเร็ว ๆ นี้ ที่ ธ.ก.ส. สาขาเขาขวาง อำเภอโพธารามทุกวันจันทร์ พุธ และพฤหัสบดี และหากท่านใดสนใจความรู้เพิ่มเติม สามารถมาเยี่ยมชมสวนโชคสมบูรณ์ได้ หรือติดตามผลงานคุณโชคดียินดีให้คำแนะนำ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08 9913 3014 หรือทาง Facebook : Chokdee Tungjit หรือ YouTube : สวนโชคสมบูรณ์เกษตรอินทรีย์
นายโชคดี ตั้งจิตร ผู้ให้ข้อมูล
นางสาวเชาวนีฐ์ โคมแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ผู้เขียนและเรียบเรียง