กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ระดับจังหวัด ครั้งที่ 3 (จังหวัดนราธิวาส) ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุใช้หลัก ARR อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
วันนี้ (24 พ.ค.60) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมและรับฟังผลการประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ระดับจังหวัด ครั้งที่ 3 (จังหวัดนราธิวาส) ที่โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมืองนราธิวาส ซึ่งมีนายธรรมรงค์ คงวัดใหม่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ร่วมให้การต้อนรับ ผู้บริหารและข้าราชการจากส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 120 คน เช่น พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ พัรเอก ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นวิทยากรและบรรยายพิเศษตลอดการประชุมสัมมนา นายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักติดตามประเมินผล สพฐ. นายประหยัด สุขขี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดประชุมฯ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2560 เป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนทุกระดับ ทั้งกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญในการเตรียมเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระบวนการสร้างคนด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ อันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
พร้อมฝากประเด็นการต่อยอดของภาษาต่างประเทศ และให้ช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องของการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้ความสามารถ ทัดเทียมกับเด็กในภูมิภาคอื่นมากขึ้น
“…เราจะทำ นำเพียรคิด จิตฝักใฝ่ หมั่นไตร่ตรอง After Action Review (AAR) สร้างการรับรู้ ได้ความร่วมมือ ถือหลัก บูรณาการ” ทั้งนี้ การที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตามที่ได้วางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาไว้นั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การรับรู้ การยอมรับ การตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ดี และความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลเองและกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้าได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนไว้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการได้รับการจัดสรรงบประมาณตามกรอบทิศทางเป้าหมายการพัฒนา เพื่อพัฒนาการศึกษาให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดในช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้…”
นอกจากนี้ยังมีระบบการติดตามที่มีประสิทธิภาพและการประเมินผลที่เหมาะสมเป็นระยะ ๆ โดยผ่านช่องทางให้ประชาสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ ต้องมีการวัดผลงานอย่างเหมาะสม การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของงาน
ด้านนายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “นราธิวาส” เป็นจังหวัดที่สำคัญในประเทศไทย เนื่องจากมีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ตั้งอยู่ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสหลายด้านหลายด้าน อาทิ ด้านการสื่อสาร การใช้ภาษา ดิน น้ำ ป่าไม้ พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงทุกศาสนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แตกแยก และได้มียุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ