วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เปิดเผยขณะเดินทางเยือนมาเลเซีย

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา
พรรคประชาชาติ คุยอะไรกับสื่อมาเลย์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เปิดเผยขณะเดินทางเยือนมาเลเซีย และได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของมาเลย์ในประเด็นการเมืองในประเทศไทย
ได้คุยอะไรกับสื่อมาเลย์บ้าง

สื่อมาเลเซีย 2-3 สื่อเขาก็มาสัมภาษณ์เรื่องการเลือกตั้งของประเทศไทยที่จะมาถึงวันที่ 14 พ.ค. และถามว่าพรรคไหนควรจะได้เป็นรัฐบาล ถามว่าพรรคประชาชาติหวังว่าจะได้กี่เก้าอี้ ที่เรามาคราวนี้เราต้องการอะไร ผมก็ให้ความเห็นเขาไปแล้วว่า เรามาเพื่อต้องการพบปะกับพี่น้องประชาชนคนไทยที่มาประกอบอาชีพอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งมีประมาณเกือบๆ 1 แสนคน แล้วก็อยากจะมาคารวะพบปะกับท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของบ้านเรา คือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่เราจะเดินทางกลับ
สื่อมาเลย์ได้ถามเรื่องถ้าได้ร่วมรัฐบาลจะร่วมกับพรรคใดหรือไม่?

เขาถามว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลไหม แล้วจะร่วมเป็นรัฐบาลไหม ก็ได้บอกไปว่า ประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยากจะให้พรรคประชาชาติเข้าไปร่วมรัฐบาลหน้านี้ ซึ่งได้เรียนกับสื่อมาเลเซียว่า โอกาสหลังเลือกตั้งที่จะได้รัฐบาลใหม่ที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลปัจจุบันนั้น มีค่อนข้างที่จะสูง แล้วพรรคประชาชาติเราก็พร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลข้างหน้า ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเลือก เป็นพรรคการเมืองที่มาจากซีกของประชาธิปไตย มากกว่าซีกอำนาจนิยม
อยากให้ฝากถึงคนไทยที่อยู่ในมาเลเซีย

ก็มีความกังวลอยู่เหมือนกัน วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า (9 เม.ย.) เกรงว่าพี่น้องหลายคนมีภารกิจหรือกลับไปบ้านแล้วกลับมาลงทะเบียนไม่ทันกัน แต่ก็พยายามขอร้องกับแกนนำให้มาลงทะเบียนกันให้มากที่สุด และทางร้านที่มีคนทำงานอยู่ก็ขออนุญาตให้คนไปมาลงทะเบียนให้หมด ผมว่าน่าจะมากกว่าปีที่แล้ว แล้ว กระทรวงการต่างประเทศก็ดี กรรมการการเลือกตั้งก็ดี เลื่อนจากเดิมกำหนดการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 27, 28 เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดรายอ ก็เลื่อนมาเป็นวันที่ 3, 4 พ.ค.ซึ่งน่าจะสะดวกมากกว่าเดิม และเชื่อว่าจะมีคนมาใช้สิทธิมาก อันนี้ต้องขอบคุณ กกต.และกระทรวงการต่างประเทศที่อำนวยความสะดวกด้วย
จากข้อมูลมีคนไทยที่อยู่ในมาเลเซียประมาณเท่าไหร่?

ตอนนี้ทะเบียนก็ยังไม่มีความแน่นอน เพราะว่าบางคนก็มาลงทะเบียนโดยถูกต้อง แต่บางคนก็ยังไม่ได้ลงทะเบียน เพราะว่าเมื่อลงทะเบียนแล้วการขอเวิร์คเพอร์มิตยังมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ไม่สะดวกที่คนส่วนใหญ่จะได้มีการลงทะเบียน ซึ่งเราก็จะเอาปัญหาความยุ่งยากของคนไทยที่อยากจะลงทะเบียนแล้วมาประกอบอาชีพที่มาเลเซียนั้น ให้กับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านเป็นคนดูแลในเรื่องนี้ แล้วกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความสะดวกให้ความเห็น เพราะว่าคนต่างประเทศเข้ามา กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องมาดูแล แต่ในเรื่องเวิร์คเพอร์มิตนั้น เรื่องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย

เราได้พบกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เรียนให้เขาทราบว่าเรามีปัญหาอะไร อะไรที่เขาควรจะผ่อนผันดูแลได้ เพราะมันเป็นกฎหมายเฉพาะของกระทรวง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของเขา
ที่ผ่านมามาเลเซียอยากจะติดตามในเรื่องเหล่านี้ คิดว่าการพูดคุยของเราจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ในการพูดคุยกับรัฐมนตรีมาเลเซียทั้ง 2 กระทรวง

เราคิดว่าจะได้ผลบ้างพอสมควร เพราะว่าเราเป็นมิตรประเทศที่อยู่ใกล้ชิดกัน ปัญหาของประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหามาเลเซีย ถ้าคนในจังหวัดชายแดนของเรามีรายได้น้อย ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ ก็จะมีปัญหากับของเรา ขณะเดียวกันก็มีปัญหากับมาเลเซียด้วย

ผมก็เคยเป็นรองนายกฯที่เคยดูแลเรื่องคนงานต่างประเทศ สมัยก่อนที่เราจะให้คนพม่ามาลงทะเบียนการทำงาน ทางเวิร์คเพอร์มิตอะไรก็ยุ่งยากพอสมควร ก็มีความเห็นหลายอย่าง เราก็คิดว่าจะเก็บค่าเวิร์คเพอร์มิตให้สูงขึ้น เพื่อเป็นรายได้ของประเทศ แต่ไม่ได้ผล คนพม่าที่มาอยู่ในประเทศไทย 2 ล้านกว่าคน มาลงทะเบียนแค่แสน 2 แสนคนเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเราเห็นว่าเราอย่าเอาเรื่องตัวเงินเป็นใหญ่ แต่เราต้องการให้คนมาลงทะเบียนเพื่อความชัดเจนเรื่องดูแลความมั่นคง แล้วเรารู้ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง เราเลยลดจากหลายพันบาทเก็บแค่ 1,500 บาท แล้วก็เก็บเพิ่มอีก 3-4 ร้อยเรื่องประกันสุขภาพ คือเก็บรวมไม่ถึง 2,000 บาท จากคนที่ลงเบียนแค่แสน 2 แสนคน มาลงทะเบียนล้านกว่าคนเกือบ 2 ล้าน จริงๆ ทำให้รายได้ที่เก็บถูกลง แต่รายได้งบประมาณแผ่นดินก็ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่สิ่งที่เราได้คือ เราได้รู้สถิติว่าคนพม่าจริงๆ เข้ามาเท่าไหร่ จากรัฐไหนของเขาบ้าง แล้วมาอยู่จังหวัดไหน เพราะสถิติเราสามารถจะดูแลในเรื่องความมั่นคง เรื่องของแรงงาน เรื่องของสุขภาพ และปัญหาอาชญากรรมทั้งหลายได้ ก็สามารถดูแลได้ เรามีบันทึกไว้หมด อันนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาลไทย แล้วเราก็ดำเนินนโยบายนั้นเรื่อยมา

ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เคยเป็นรองนายกฯ ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขา แต่แน่นอนเขาก็มีเส้นทางของเขา ปัญหาของเขาอาจจะไม่เหมือนปัญหาเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันไม่ใช่คนไทยเท่านั้นที่มาทำงานเยอะในมาเลเซีย เยอะที่สุดของเขาคือคนอินโดนิเซียซึ่งพูดภาษามลายูและศาสนาใกล้เคียงกัน เขาก็ต้องพิจารณาให้ดีที่สุด แล้วก็เขาเองก็เศรษฐกิจเขายังไม่ค่อยจะดีนั กเขาก็อยากคนของเขาทำงานมากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่มีคนงานไทย เขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน เพราะร้านอาหาร 80 เปอร์เซ็นต์เป็นร้านของคนไทย แล้วคนไทยก็มีฝีมือที่มาทำงานเรื่องก่อสร้าง เขาก็อยากจะได้ แต่ปัญหาคนงานก่อสร้างเขาก็อาจจะมีปัญหาไม่มากเหมือนคนทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง เพราะเราเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ และเป็นคนงานด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งคนมาเลย์ยังนิยมเข้าร้านอาหารไทยเยอะอยู่ ถ้าไม่มีก็เดือดร้อน ในการแลกเปลี่ยนความเห็นผมคิดว่าน่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากเขาในทางที่เป็นบวกมากขึ้น

Loading