วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

ประกาศเตือนพายุ ฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง แถมมีฟ้าผ่า ใช้โทรศัพท์ในที่แจ้งต้องระวัง

กาญจนบุรี – ประกาศเตือนพายุ ฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง แถมมีฟ้าผ่า ใช้โทรศัพท์ในที่แจ้งต้องระวัง

เมื่อเวลา 18.00 น.วันนี้ 14 เม.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (102/2566) ลงวันที่ 12 เมษายน 2566 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ระหว่างวันที่ 15-16 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น มีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโขกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่ต้องฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโขกแรง ระหว่างวันที่ 15-16 เมษายน 2566

ดังนั้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการแจ้งเตือนและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ระหว่างวันที่ 15-16 เมษายน 2566 จึงให้ กอปก.อ. กอปก.อปท. และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการ ดังนี้

1.ตรวจสอบป้ายโฆษณา และต้นไม้ขนาดใหญ่ บริเวณที่สาธารณะ และบริเวณสองข้างทางในพื้นที่รับผิดชอบ โดยดำเนินการแก้ไขและติดป้ายแจ้งเตือน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจาก วาตภัย

2. แจ้งเตือนประซาชนในพื้นที่ ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อระวังอันตรายจากสถานการณ์พายุฤดูร้อนและลมแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเสี่ยงการใช้เครื่องมือสื่อสารขณะอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม่ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง

3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ฯลฯ เตรียมความพร้อมเพื่อประสานงานและบูรณาการการปฏิบัติงาน อย่างสอดคล้องตามแผนเผชิญเหตุ โดยเตรียมความพร้อมทรัพยากรเครื่องมือ อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

และ 4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวช้อง ประกอบด้วย อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประซาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เตรียมการป้องกันและฝ้าระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดกับผลิตผลทางการเกษตรไว้ด้วย หากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที โดยประสานจัดกำลังจิตอาสาเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย พร้อมทั้งแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ทราบทันที ทางแอปพลิเคชันไลน์ : รายงานสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี และทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ dpm _kan@hotmail.co.th และ สำหรับอำเภอ ขอให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เช่นเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ทราบด้วย

ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน

Loading