กาญจนบุรี – DSI-ปค.-เครือข่ายประชาสังคม ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนไร้สัญชาติ จ.กาญจนบุรี
สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับกรมการปกครอง และเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าให้ความช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้แก่ กลุ่มชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ (ที่เป็นบุคคลตกหล่น) กลุ่มบุคคลสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่เป็นคนไทยติดแผ่นดิน กลุ่มเด็กตัว G (บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) กลุ่มพระสงฆ์สามเณรไร้สถานะทางทะเบียน และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ตามโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติดังกล่าว โดยได้รับการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยมาแล้วหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยอำเภออมก๋อย อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในอำเภอบางสะพานน้อย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีกหลายพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และพระสงฆ์สามเณรไร้สัญชาติและไร้สถานะ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย กลุ่มชาวเลมอร์แกน ในพื้นที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวน คดีพิเศษ พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่บ้านปิล็อคคี่ ตำบลปิล็อค อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเข้าร่วมกับคณะทำงานของอำเภอทองผาภูมิและสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ทำการบันทึกถ้อยคำชนกลุ่มน้อยและกลุ่มบุคคลชาติพันธุ์ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กนักเรียนซึ่งเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวนประมาณ 149 ราย ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล็อคคี่ โรงเรียนเพียงหลวง 3 และโรงเรียนใกล้เคียง ให้ได้รับการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.2508 และหลังจากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะร่วมกับอำเภอทองผาภูมิ ในการเร่งดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มพระสงฆ์สามเณรในพื้นที่เป็นลำดับต่อไป
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การลงพื้นที่บ้านปิล็อคคี่ ในครั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลุ่มงานประสานด้านคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผอ.รร.ตชด.บ้านปิล๊อคคี่ หน่วยงานภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล มูลนิธิเพื่อที่อยู่อาศัย และกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS)
จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับข้อมูลปัญหาบุคคลไร้สัญชาติจากภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และได้ดำเนินการให้ความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นปัญหาที่มีผลกระทบอย่างสูง ทำให้ประชาชนที่เป็นคนไทยแต่ไม่ได้สิทธิสัญชาติไทย บุคคลเหล่านั้นจะขาดสิทธิในการรักษาพยาบาล ขาดโอกาสในการศึกษา ฯลฯ ซึ่งการขาดโอกาสเหล่านี้อาจเป็นปัญหาสังคมได้ในอนาคต
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวต่อว่า ตามนโยบายปลัดกระทรวงยุติธรรม (นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์) ที่มุ่งเน้นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินงานด้านการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยจากการทำงานในเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นปัญหาหลายด้าน ที่ต้องเร่งแก้ไข จึงเห็นควรให้แก้ไขตั้งแต่ต้นตอของปัญหา นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะใช้ความชำนาญด้านการสอบปากคำไปพร้อมกับตรวจสอบเอกสาร หลักฐานประกอบการพิจารณาของนายทะเบียนในการให้สัญชาติไทยและจัดทำทำบัตรประจำตัวประชาชน เช่น สูติบัตร แบบยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย ใบรับรองจากโรงเรียน บัตรชาวเขา ทะเบียนบ้านเด็ก ทะเบียนบ้านของพ่อและแม่ของเด็ก ฯลฯ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนว่าการดำเนินการในภารกิจดังกล่าว กรมฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีสภาพปัญหาที่มีบุคคลไร้สัญชาติเป็นจำนวนมาก มีข่าวการเรียกรับผลประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ซึ่งการลงพื้นที่ร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในวันนี้จะเป็นต้นแบบในการขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่ใกล้เคียง และสำหรับในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะบูรณาการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรดำเนินการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในลักษณะนี้อีก
เสียง พ.ต.ต สุริยา สิงหกมล อธิบดีDSI นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นอภ.ทองผาภูมิ นายมือวา สุจริต ชาวบ้าน น.ส.บุญมา แดงหอม
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน