จ.ตราด ร่วม ป.ป.ช. หารือร่วมพร้อมลงพื้นที่ กรณีการใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่
เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา วันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกรณีการใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ โดยมีนายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 นางสาวกาญจนา คำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตราด รวมทั้งนายสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังมี นายวินัย อนันตวรางกูล ธนารักษ์พื้นที่ตราดร่วมให้ข้อมูล ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตราด จัดขึ้นที่ห้องประชุมตราดสีทอง ศาลากลางจังหวัดตราดเมื่อเช้าที่ผ่านมา
สำหรับการประชุมหารือร่วมกรณีการใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ในครั้งนี้เนื่องจากท่าเทียบเรือดังกล่าว ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยกรมเจ้าท่า มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทางสำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้ประชุมหารือร่วมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการใช้ประโยชน์และความเป็นมาของท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ไม้โท รัตนโยธินณรงค์ ผู้รับผิดชอบได้บรรยายโครงการท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ที่มาที่ไปของโครงการฯพร้อมด้วยหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ศรชล. เทศบาล อบต. นักศึกษา และตัวแทนสตองอําเภอคลองใหญ่เข้าร่วมรับฟัง
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า การลงพื้นที่สอดส่องกรณีการใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ครั้งนี้เนื่องทางชมรม STRONG ได้ร้องขึ้นไปยัง ป.ป.ช. รวมทั้งทางจังหวัดยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน ว่า ทำไมท่าเทียบเรือแห่งนี้ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยจาการหารือและลงพื้นที่ครั้งนี้ทราบว่า ในเรื่องปัญหาการตื้นเขินบริเวณท่าเทียบเรือทางกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกไปแล้ว นอกจากนี้ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณท่าเทียบเรือตลอด 24 ชม. อย่างไรก็ตามท่าเรือแห่งนี้ยังติดขัดในเรื่องการส่งมอบซึ่งมี 2 ทาง เลือกคือให้ท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการ กับให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งทางกรมเจ้าท่าได้เลือกให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ แต่ก็ต้องรอการพิจารณาจากส่วนกลาง รวมทั้งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ภาคเอกชนโดยหอการค้าไทยยังได้เสนอให้มีการใช้ประโยชน์บางส่วนจากท่าเรือแห่งนี้ในเชิงการท่องเที่ยวในอนาคต ต่อไป ตามวัตถุประสงค์ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์แห่งนี้
ด้าน นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2 กล่าวว่า ความกังวลของทาง ป.ป.ช. ในความพร้อมของภาคเอกชนจะเข้ามาบริหารจัดการ ว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนของภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการหรือไม่ หากไม่มีภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุน ก็จะทำให้โครงการท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ ที่มีมูลค่าโครงการถึง 1,295.1 ล้านบาท จะต้องหาแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ต่อไป อย่างไรก็ตามการหารือร่วมในครั้งนี้ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ทางกรมเจ้าท่าจะได้ดำเนินการชี้แจงตามลำดับขึ้นตอนตั้งแต่การส่งมอบงานท่าเทียบเรือแห่งนี้จนถึงปัจจุบันให้ประชาชนทราบต่อไป
ด้าน นายสุรชัย บุรพานนทชัย ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรณีที่มีมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาบริหารจัดการท่าเทียบเรือแห่งนี้ยังคงอยู่ระหว่าง การท่าเรือ แห่งประเทศไทยศึกษาผลดี ผลเสียในการดำเนินการโดยเฉพาะการชัดจูงสายการเดินเรือระหว่างประเทศให้เข้ามายังท่าเทียบเรือแห่งนี้
/ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด