วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งทีมขับเคลื่อนภารกิจริเริ่มและท้าทาย

กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งทีมขับเคลื่อนภารกิจริเริ่มและท้าทาย

​​นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งกิจกรรมพัฒนาบุคลากรภายในของหน่วยงานที่กำกับดูแลในลักษณะการพัฒนาโดยทรัพยากรภายในหน่วย (Unit School) ในชื่อโครงการพัฒนาบุคลากรด้านภารกิจริเริ่มและท้าทาย ผู้เข้าร่วมโครงการขณะนี้ 125 คน จากกองพัฒนาเกษตรกร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ศูนย์ปฏิบัติการและสำนักงานเกษตรจังหวัดที่อยู่ภายใต้เขตรับผิดชอบหรือจังหวัดที่ต้องการเข้าร่วม ส่งบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อเป็นที่ปรึกษาเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ด้านการประกอบธุรกิจ การตลาด และเชื่อมโยงภาคการผลิตการเกษตรกับภาคเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมและการส่งออก ทั้งหมดถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่คณะทำงานขับเคลื่อนภารกิจริเริ่มและท้าทายของกรมส่งเสริมการเกษตร และได้รายงานอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อทราบ พร้อมให้คำแนะนำในการดำเนินงาน ทั้งนี้ อยู่ภายใต้แผนการขับเคลื่อนงานระยะเร่งด่วน 180 วัน (Quick Win) ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน 2566 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงานเป็นทีมพัฒนาเกษตรกร รวมถึงการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์แก่บุคลากรภายใต้การกำกับดูแล มีการตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามแนวทาง “Keep Going, Keep Growing” ของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2566 เพื่อเชื่อมโยงบทบาทภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรกับสถานการณ์ ทิศทาง และแนวโน้มทางเศรษฐกิจ รองรับนโยบายและเป้าหมายร่วมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

​​นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภารกิจหลักของกรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้มีขอบเขตเพียงการดูแลเกษตรกรด้านการผลิต แต่แท้ที่จริงแล้วการทำงานของพวกเราเป็นการทำงานร่วมกับเกษตรกรและเรามีหน้าที่สนับสนุนเกษตรกรในทุก ๆ ทางตามภารกิจของหน่วยงาน เพื่อให้ประเทศมีผลผลิตที่ต้องการอย่างเพียงพอ ป้อนสู่การบริโภค การค้า การอุตสาหกรรม และการส่งออก กล่าวคือเพื่อเป็นปัจจัยในระบบเศรษฐกิจสาธารณะ จำเป็นต้องมีความรอบรู้ในหลากหลายสาขานอกจากการผลิตและวิชาการเกษตร คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นเรียกภายในว่า “หน่วยปฏิบัติการเสือส่งเสริม” เพื่อพัฒนาทีมบุคลากรพิเศษที่มีชื่อย่อเรียกว่า “เสือส่งเสริม” เพื่อเป็นกำลังในการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรได้ทั้งมิติการผลิต และมิติทางเศรษฐกิจ เป้าหมายของเขาคือพัฒนาตนเอง เป็นที่ปรึกษาเกษตรกร และสร้างเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ โดยเขาจะเป็นผู้มีบุคลิกภาพชัดเจน “รู้เรื่อง ฉับไว มองการณ์ไกล เชื่อใจได้” มีผู้อำนวยการะดับสูง 6 คน ทำหน้าที่เป็นอาจารย์และมีสำนักงานสนับสนุนการฝึก ผู้เข้ารับการพัฒนาจะได้รับตราเสือเป็นสัญลักษณ์ และผู้ที่ถูกคัดออกต้องคืนตราเสือ

​​“เสือส่งเสริม” ระหว่างการฝึกจะถูกแบ่งออกและจัดโครงสร้างการฝึก จำลองสถานการณ์เป็น 3 กอง พัฒนาทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ โดยผ่านระบบเครือข่ายสื่อสาร และเข้ารับการฝึก ณ ค่ายเสือ กาญจนบุรี (ศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตรอาเซียน จังหวัดกาญจนบุรี) พวกเขาจะต้องคัดเลือกผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองของแต่ละกอง และผู้อำนวยการกลุ่ม โดยแต่ละกองจะมี 3 กลุ่ม กับ 1 ฝ่ายอำนวยการที่ขึ้นตรงกับผู้อำนวยการ ทั้ง 3 กอง ได้แก่
​​1. กองพัฒนามูลค่าเพิ่มเพื่อการพาณิชย์
​​2. กองส่งเสริมคุณค่าสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ
​3. กองยกระดับสินค้ามูลค่าสูงเพื่ออุตสาหกรรมและการส่งออก
พวกเขาทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกกอง มีโจทย์ที่จะผลิตชิ้นงานในแต่ละระดับ เพื่อเข้าร่วมการแสดงฝีมือรอบแรก วันที่ 26 – 27 กรกฎาคม 2566 นี้ ณ ค่ายเสือ กาญจนบุรี จะมีภารกิจอะไรให้เสือส่งเสริมทำบ้างนั้น

ติดตาม…………
#นายส่งเสริม #รองกฤษ อุตตมะเวทิน #เสือส่งเสริม #กรมส่งเสริมการเกษตร #มุ่งผลสัมฤทธิ์ #ปฏิบัติงานเชิงรุก #ปรับวิธีคิด #เปลี่ยนวิธีทำ

 

Loading