เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองอำนวยการ องค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน บุญเดือนสาม ข้าวหลามจังหวัดนครปฐม และโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเสริมสร้าง Soft Power ไทยอย่างยั่งยืน
โดยมี ดร.อนวัช นกดารา ประธานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยตำบลลำเหย และประธานเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดนครปฐม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาโครงการฯ พร้อมด้วย นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ผศ.บุญพาด ฆังคะมะโน คณบดีคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นายพงศ์สุธี สุขศิริ พาณิชย์จังหวัดนครปฐม นางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม นางวันวิสา นิยมทรัพย์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม รศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพุทธมณฑล ผศ.ดร.จิตกวี กระจ่างเมฆ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอดอนตูม ดร.อารีรัตน์ อัศนีวุฒิกรประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองนครปฐม นางสมพิศ ยืนนาน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอกำแพงแสน นางดวงรัตน์ รุ่งโรจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบางเลน นางทิวาพร โชครุ่งเจริญชัย ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลสามง่าม ผู้แทนสภาวัฒนธรรมอำเภอทุกอำเภอ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดนครปฐม ประชาชน ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ และเข้าร่วมพิธีฯ ดังกล่าว
ด้วยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยตำบลลำเหย ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานบุญเดือนสาม ข้าวหลามจังหวัดนครปฐม และโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเสริมสร้าง Soft Power ไทยอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีบุญเดือนสาม ของคนไทยเชื้อสายไทยลาวจังหวัดนครปฐม และเป็นการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่คณะ ตลอดจนเป็นการฟื้นฟูประเพณีตักบาตร ข้าวหลาม และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในด้านทัศนศิลป์ของนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีฯ กล่าวว่า ข้าวหลามเป็นหนึ่ง ในสิ่งสำคัญในคำขวัญของจังหวัดนครปฐม แสดงให้เห็นว่าข้าวหลามนครปฐมเรามีประวัติศาสตร์ยาวนานมีการสืบทอดต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของคนนครปฐม และคนไทย เรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดนครปฐม และชาวนครปฐมได้มีความภาคภูมิใจในข้าวหลามจังหวัดนครปฐม และขอชื่นชมที่นำข้าวหลามชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดนครปฐม ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านคณะกรรมการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยลาวบุญเดือนสาม ข้าวหลามจังหวัดนครปฐม เป็นการแสดงให้เห็นความตั้งใจ และความสมัครสมานสามัคคี ทั้งหน่วยงานภาครัฐ โดยทางท่านวัฒนธรรมจังหวัด เป็นแม่งานในเรื่องของการนำวัฒนธรรมของจังหวัดนครปฐมของเรานำไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ให้พวกเราชาวนครปฐม ได้ชื่นชมในวัฒนธรรมประเพณีของเรา อาหารการกินซึ่งมีชื่อเสียง นำไปสู่การค้าขายเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของรายได้ของพี่น้องประชาชนนครปฐม ที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้ ซอฟต์พาวเวอร์มาขับเคลื่อน รวมทั้งภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มาจากชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐมที่มา ทั้ง 7 อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อนบ้าน จังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี สุพรรณบุรี ที่มาร่วมในวันนี้ ขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน ที่ได้มารวมพลังแห่งความศรัทธา และท่านได้เป็นผู้มาร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรม ร่วมกันส่งเสริม รักษา สืบทอด งานบุญเดือนสาม ประเพณีการตักบาตรข้าวหลาม และงานศิลปกรรมของไทยให้คงอยู่คู่จังหวัดนครปฐม อย่างยั่งยืนสืบไป ประธานในพิธีฯ กล่าว
จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีคนไทยเชื้อสายลาวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานนานนับร้อยปี มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ประเพณีบุญเดือนสามของชาวไทยเชื้อสายลาวจะมีการทำบุญตักบาตร ในวันมาฆบูชา หรือเพ็ญเดือนสาม นอกจากอาหารคาวหวานทั่วไปแล้วขนมหวานที่ทุกครัวเรือนจะต้องนำไปถวาย คือ “ข้าวหลาม” ที่ทำจากข้าวหนียวใหม่ ปรุงด้วยกะทิ เกลือ และน้ำตาล อันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหลามไทยลาว ซึ่งในปัจจุบันการทำข้าวหลามในงานบุญเดือนสาม ลดน้อยลงอย่างมาก หรือไม่มีการทำข้าวหลามในบางชุมชนแล้ว ทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารใกล้จะสูญหาย ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีบุญเดือนสาม หรือการทำบุญข้าวหลามในวันมาฆบูชา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยตำบลลำเหย ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดนครปฐม และเครือข่ายทางวัฒนธรรม จึงได้กำหนดจัดงานบุญเดือนสามข้าวหลามนครปฐม และโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมส่งเสริม Soft Power ไทยยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีบุญเดือนสามของคนไทยเชื้อสายไทยลาวจังหวัดนครปฐม 2) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะ และธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม 3) เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีตักบาตรข้าวหลาม 4) เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ของนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 5) เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสชื่นชมและภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดก ของชาติ และผลักดัน Soft Power ของไทยให้เป็นที่แพร่หลายและยั่งยืน และ 6) เพื่อขยายเครือข่ายการทำงาน ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในจังหวัดนครปฐม
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1) รวมพลคนทำข้าวหลามของเครือข่ายชาติพันธุ์ไทยลาว 2) การเสวนาว่าด้วยข้าวหลามนครปฐม 3) การตักบาตรข้าวหลาม 4) การฟ้อนสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ โดยเครือข่ายนางรำบ้านสวนศิลป์ และกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี สุพรรณบุรี 5) การสาธิตกรรมวิธี
และขั้นตอนการออกแบบและพิมพ์ลวดลาย การสาธิตการวาดภาพ และการนำเสนอหีบห่อข้าวหลามลวดลายทวารวดี พิมพ์บนกระดาษสา เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวหลาม จากนักศึกษาคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยมีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 11 -12 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศาลากองอำนวยการ และลานหน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ องค์พระปฐมเจดีย์
นางสาวชนิดา พรหมผลิน นครปฐม รายงาน