วันศุกร์, 1 พฤศจิกายน 2567

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมกิจกรรมในงาน ปั่น-วิ่ง รวมใจรักษ์โลมา ตราด

04 ก.พ. 2018
149

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ Love & Care Fair for Dolphins ในงาน “ปั่นวิ่ง รวมใจรักษ์โลมา ตราด” เพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญในการ แก้ไขความเสื่อมโทรม การลดลงของความหลากหลายของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งรวมทั้งอนุรักษ์โลมาสัตว์หายาก สู่การจัดการทรัพยากรทะเล ทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมบนฐานระบบนิเวศที่ยั่งยืน


เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2561 นายสุริยัน ผาฟองยุน ผู้แทน เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA ) มอบเงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท ให้แก่ ผู้ชนะในกิจกรรมส่งเสริมศิลปะเยาวชนวาดภาพโลมา และมอบน้ำดื่มจำนวน 1,000 ขวด ซึ่งได้รับสนับสนุนจากบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ในการร่วมจัดกิจกรรม “ปั่นวิ่ง รวมใจรักษ์โลมา ตราด” ณ หาดบานชื่น อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จัดโดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตำบลไม้รูด ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายอ่าวตราด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด และอีกหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย ปั่นจักรยาน วิ่งมาราธอน เพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วม สนับสนุนการอนุรักษ์โลมาและทรัพยากรชายฝั่ง นิทรรศการ เวทีสาธารณะ กิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น
สำหรับบริเวณอ่าวตราด เป็นที่อยู่อาศัยของโลมา ฝูงใหญ่ถึง 3 สายพันธ์ ได้แก่โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาหลังโหนก และโลมาอิรวดี มีจำนวนกว่า 260 ตัว ซึ่งบางฝูงพบมากกว่า 20 ตัว ในอีกด้านหนึ่งพบว่า อัตราการตายของโลมาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สาเหตุการตาย มีทั้งจากอุบัติเหตุหรือติดเครื่องมือประมงและที่สำคัญส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน อาจจะเพราะการกินขยะในทะเล และการป่วยติดเชื้อจากการกระทำของมนุษย์


สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2537 อีกทั้งเป็นองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2540 ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ที่ผ่านได้ดำเนินการด้านการคุ้มครองและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ณ โรงแรมเคป พันวา จังหวัดภูเก็ต การรณรงค์ ไม่จับ “นกตามธรรมชาติ” มาปล่อย ในภาพยนตร์สั้น “ปล่อยนก บุญหรือบาป?” การดูแลรักษา “ช้าง” โดย นสพ. อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรรมการสมาคมฯ การช่วยเหลือ “เต่าทะเล” การจัดกิจกรรมอนุรักษ์ “วาฬ โลมาและฉลามวาฬ” อีกทั้งปัจจุบันสมาคมฯ ได้รับอนุมัติจากสภาองค์การอนุรักษ์ IUCN ให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกประจำประเทศไทย ซึ่งมีองค์กรภาคีสมาชิกภาครัฐและเอกชน กว่า 1,000 แห่งทั่วโลก เป็นสมาชิก อีกด้วย

Loading