วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

เพชรบุรี-ศึกษากลุ่ม ไทยทรงดำ และชนชาติพันธุ์ กระเหรี่ยง เพชรบุรี

ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ศึกษากลุ่ม”ไทยทรงดำ”และชนชาติพันธุ์”กระเหรี่ยงเพชรบุรี” ตั้งเป้าจัดกิจกรรม ตามรอยพ่อภูมิพล ย้อนรอยประเพณี

เมื่อเวลา10.30 นวันที่13 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.วัชรา ปิ่นทอง นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิคณะทำงานโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์วังสวนจิตรลดา พร้อมคณะ เดินทางมาศึกษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยทรงดำบ้านเขากระจิว หมู่ที่6 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมีนางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง คณะผู้บริหาร พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวก โดยศึกษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยทรงดำในครั้งนี้ มีการศึกษาเส้นด้ายและเนื้อผ้าทอจากมือของกลุ่มแม่บ้านไทยทรงดำชุมชนบ้านเขากระจิว ซึ่งปัจจุบันมีนางบุญนำ ทหารเพียง เป็นประธานกลุ่ม
การแต่งกาย


ของไทยทรงดำ เป็นวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของชาวไทยทรงดำ ที่ยังดำรงลักษณะของการแต่งกายด้วยเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม จะใช้เสื้อผ้าแบบเดียวกันทั้งหญิงและชาย ยกเว้นในงานพิธีกรรมจะต้องใส่ชุดพิเศษ สีเสื้อผ้าของชาวไทยทรงดำนิยมใช้สีดำหรือครามเข้มเป็นประจำ จนได้ชื่อเรียกว่า “ไทยทรงดำ” หรือ “ ลาวทรงดำ “ ส่วนสีอื่นจะเป็นเพียงสีที่นำมาตกแต่งเพื่อให้สวยงามเท่านั้น
ขณะเดียวกันคณะทำงานโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ได้เดินทางไปที่บ้านสองพี่น้อง หมู่1 ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธ์ุชนเผ่ากระเหรี่ยงอาศัยอยุ่มาอย่างช้านาน
ลุงนา แก่นเสน่ห์ อายุ87ปี ซึ่งเป็นชายสูงวัยที่ชาวกระเหรี่ยงแห่งนี้ให้ความเคารพนับถือ เล่าว่า ชาวกระเหรี่ยงบ้านสองพี่น้องแห่งนี้จะมีเอกลักษณ์การแต่งกายคล้ายกับชนเผ่ากระเหรี่ยงทั่วไป โดย
จะมีทั้งเสื้อกระเหรี่ยงสำหรับผู้ชายและ เสื้อกระเหรี่ยงหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานโดยจะเป็นชุดสุ้มหล้อง หรือชุดยาวเป็นเสื้อกระโปรงในตัวเดียวกัน ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่เสื้อผ้าทอที่มีการปักมะเดือยให้มีลวดลายสวยงาม โดยจะใส่คู่กับผ้าถุงที่เย็บจากผ้าทอในลวดลายและรูปแบบของชนเผ่า กระเหรี่ยงที่เรียกว่า ผ้าซิ่นกระเหรี่ยง
แต่เดิม เครื่องนุ่งห่ม ของชนเผ่า จะเป็นแบบ ไม่มีลวดลาย และสีสันจะเป็นเสื้อเม็ดมะเดือย, ผ้าถุง จะมีลายเดิมที่คิดค้นเอง คือลายดอก,ลายตะเคียน,ลายโซ่, ส่วนเสื้อกระเหรี่ยงชาย ลวดลายจะมีสีขาว- แดงเท่านั้น เสื้อชุดสุ้มหล้อง จะไม่มีลวดลายจะมีแค่สีขาวล้วนธรรมชาติ ส่วนกางเกงผู้ชาย จะไม่มีลวดลายสีขาว แต่จะมีถุงย่ามสะพายเพื่อใส่สัมภาระเท่านั้น


ในปัจจุบัน วัตถุดิบในการมาถักทอเป็นผ้าทอกระเหรี่ยง ได้มีการนำเอาไหมประดิษฐ์มาดัดแปลง โดยมีการพัฒนาดัดแปลงและตกแต่งลวดลายให้มีความทันสมัย แต่จะยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าอยู่ ด้านกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือประเพณีข้าวห่อหรือประเพณีเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยง ที่เรียกกันว่า “อั้งมีถ่อง” เป็นประเพณีการประกอบพิธีกรรม รับขวัญสำหรับให้ลูกหลาน
ที่ได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินอยู่ที่อื่น นาน ๆ จึงจะกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องสักครั้งหนึ่ง ดังนั้นหัวหน้าหมู่บ้านจึงได้กำหนดถือเอาวันพระ เดือนเก้า ซึ่งเชื่อกันว่า เดือนเก้าเป็นเดือนที่ดีที่สุด เป็นเดือนแห่งโชคลาภ เป็นวันที่มาพบกัน โดยยึดเอาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเป็นที่นัดพบกัน นั่นเอง
ดร.วัชรา เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ศ.2502 -2515 พ่อภูมิพลและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ เคยเสด็จมาที่หมู่บ้านกระเหรี่ยงโผล่วบ้านสองพี่น้องแห่งนี้ เพื่อล่องเเม่น้ำเพชรบุรี และพระองค์ยังทรงเสด็จพระราชกรนียกิจเปิดโรงเรียนบ้านสองพี่น้องแห่งนี้นอกจากนั้นยังทรงเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรกลุ่มชาติพันธุ์แห่งนี้อีกด้วย ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีทั้งเอกลักษ์และอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ โดยในโอกาสข้างหน้าจะได้ประสานกับจังหวัดเพชรบุรีพร้อมกับหน่วยงานต่างๆทั้งระดับจังหวัด ,อำเภอ,และตำบล ร่วมกันจัดกิจกรรมพร้อมขุดคุ้ยศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวกระเหรี่ยงบ้านสองพี่น้องเพื่อส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปและวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูสืบสานและอนุรักษ์เอกลักษณ์อัตลักษณ์ของชนเผ่ากระเหรี่ยงต่อไป

กสิพล ศิริลาภ/เพชรบุรี

Loading