วันศุกร์, 25 ตุลาคม 2567

จังหวัดกระบี่ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์นำ้ในฤดูปลาวางไข่

30 มี.ค. 2018
32

จังหวัดกระบี่ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2561 (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน)


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2561 (ปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน) ณ บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพื่อให้สัตว์น้ำได้แพร่ขยายพันธ์และฟื้นฟูสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและรักษาระบบนิเวศไว้ให้ยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นให้รู้จักการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนและรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานเพื่อปกป้องทรัพยากรและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยมีพันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวรายงานพร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนจังหวัดกระบี่ และร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยเรือตรวจประมงทะเล เครือข่ายเฝ้าระวังการทำประมง ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) ออกปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมกันออกลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังผู้กระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์กุ้งแช่บ๊วยจำนวน 1 ล้าน 4 แสนตัวและปูม้า จำนวน 2 หมื่นตัวคืนสู่แหล่งธรรมชาติ

ในปี 2561 กรมประมงได้ปรับปรุงมาตรการสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการทำประมงในพื้นที่อ่าวอันดามันและอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 ออกประกาศกรมประมงลง วันที่ 22 มีนาคม 2561 เรื่องกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วน โดยกำหนดให้มีการปิดพื้นที่บางส่วนเท่านั้น ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่และตรังเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยกำหนดห้วงระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายนของทุกปี รวมเนื้อที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูงเป็นบางชนิดและขนาด สำหรับเครื่องมือประมงเพื่อการยังชีพและเครื่องมือประมงประสิทธิภาพต่ำยังคงสามารถทำการประมงได้ เช่น อวนลากแผ่นตะเฆ่ ความยาวไม่เกิน 14 เมตร ทำได้ในเวลากลางคืนและนอกเขตทะเลชายฝั่ง อวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางวันและเครื่องมือประมง

พื้นบ้านประเภทต่างๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับชาวประมงน้อยที่สุดในการประกอบอาชีพ
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาตัวประกาศ จากเดิมจะประกาศเครื่องมือที่ห้ามทำการประมงแต่ประกาศฉบับใหม่นี้จะประกาศเครื่องมือที่ให้ใช้ทำการประมง อีกทั้งยังมีบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรงหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดทางอาญาและมาตรการทางปกครองตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 จึงขอให้พี่น้องประชาชนชาวประมงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังการทำประมง ผู้ใดกระทำผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 30 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมงหรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ทั้งนี้ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ที่เข้าใจการดำเนินงานของภาครัฐและเสียสละยอมปรับเปลี่ยนวิถีการทำประมงดั้งเดิมเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงของประเทศให้มีใช้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลภาพ/ข่าว/กระบี่
ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

Loading