วันพฤหัสบดี, 16 มกราคม 2568

สอศ.ออกสตาร์ทหลักสูตรพรีเมี่ยมระบบราง

25 เม.ย. 2018
84

สอศ. ออกสตาร์ทหลักสูตรพรีเมี่ยมระบบราง กับ วิทยาลัยเทคโนโลยีฯ การรถไฟหวู่ฮั่น ประเทศจีน

วันนี้ (25 เมษายน) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น (Wuhun Railway Vocational of Technology) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย นายเฉิง ซื่อชิง อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาหลักสูตรระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาพรีเมี่ยมอาชีวะ ตามโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยนำร่อง ใน 4 สถานศึกษา ประกอบด้วย วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ จ. ขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม จ.มหาสารคาม

วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ซึ่งจะเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2561
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอาชีวศึกษา สาขาวิชาที่เชื่อมโยงกับ Growth Engine และ S-curve , New S-curve ซึ่งจะพยายามแสวงหาความร่วมมือ และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากล สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายให้เดินหน้าการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ หรืออาชีวะพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาจะได้รับวุฒิทวิวุฒิ หรือ 2 วุฒิ จาก 2 ประเทศ คือจากประเทศไทย และจากประเทศจีน โดยความร่วมมือของหลักสูตรจะต้องยืนยันว่ามีกระบวนการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดไปได้ เรียนจบแล้วสามารถทำงานได้จริง และมีทักษะการปฏิบัติแบบมืออาชีพ ตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศ

สำหรับความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาหวู่ฮั่น ที่จะดำเนินการคือการร่วมพัฒนาหลักสูตรระบบขนส่งทางราง ในการจัดการเรียนการสอน 3 สาขา ได้แก่ 1 .ระบบราง 2.อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม และ 3. ช่างซ่อมตู้รถไฟ พร้อมทั้งการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนครูระหว่างกันในการสอนและการวิจัย หรือการฝึกอบรมในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาระหว่างกัน การฝึกอบรมบุคลากรที่ขาดแคลน และการสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร และโครงสร้างสาขาวิชาใหม่ มีการพัฒนาความร่วมมือในการจัดการศึกษา ตลอดจนการวิจัยร่วมกันในด้านการศึกษา การสร้างนวัตกรรมใหม่ และสถานศึกษาจะสามารถผลิตกำลังคนที่เข้มแข็ง และสอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาประเทศไทย จึงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เจริญรุดหน้า เป็นการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสาขาระบบขนส่งทางราง เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีและแลกเปลี่ยนความรู้แนวคิดในด้านศิลปวัฒนธรรม สังคม และภาษา ของทั้งสองประเทศ

สมยศ แสงมณี / ปทุมธานี

Loading