ผวจ.สุพรรณฯ แต่งชุดไทยเที่ยววัดกุฎีทอง ศึกษายานมาศพระเพทราชา ยันของแท้ พบเหลือเพียง 6 ลำในประเทศ เตรียมประกาศแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
ที่วัดกุฎีทอง ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองสุพรรณบุรี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.สุพรรณบุรี , นางจุฬารัตน์ วันไชยธนวงศ์ นายกเหล่ากาชาด เป็นประธาน , นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี , นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี นำข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนทุกสาขาอาชีพ กว่า 500 คนร่วมแต่งชุดไทยย้อนยุคสมัยอยุธยา โดย มีพระมหาไพรัตน์ ขันติสาโร เจ้าอาวาส เป็นผู้บรรยายประวัติความเป็นมาของวัด ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับองค์พระเพทราชา รวมถึงความเป็นมาของยานมาศ และอุโบสถเสมาคู่ ที่องค์พระเพทราชาทรงบูรณะ และเดินทางมาประกอบวิสุงคามสีมา และได้มีการร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนในการร่วมบูรณะวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือและสอบถามความคิดเห็นของผู้มาร่วมงาน ในการที่จะริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ ไว้เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งคุณงามความดีแด่ประองค์ ประดับไว้บนแผ่นดินถิ่นเกิดของพระองค์ท่านด้วย ซึ่งภายในวัดกุฎีทอง นั้น อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ได้สร้างวิหารพระเพทราชาเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เพื่อให้ชาวบ้านได้ระลึกนึกถึงพระองค์
เรื่องพบยานมาศ (เสลี่ยงนั่ง) สมเด็จพระเพทราชา ที่วัดกุฎีทอง ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองสุพรรณบุรี ซึ่งได้ถวายไว้เป็นที่ระลึก ครั้งเสด็จมาวิสุงคามสีมาวัด สมัยพระองค์ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และได้ถวายยานมาศให้กับเจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง ไว้เป็นที่ระลึก โดยทางวัดก็ได้ดูแลเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี หลังจากกระแสละครบุพเพสันนิวาสดัง ทำให้มีประชาชนจากทั่วสารทิศ เดินทางมาชมและกราบไหว้ขอพรกันไม่ขาดสายเป็นจำนวนมาก
พระมหาไพรัตน์ ขันติสาโร เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง เผยว่า เรื่องยานมาศพระเพทราชา มีคนมาชมเป็นจำนวนมาก ว่า ความเป็นมาอย่างไร และเป็นของแท้หรือไม่ ที่ผ่านมายานมาศลำนี้มีคณะอาจารย์ จากภาคโบราณคดีหลายสถาบัน ได้มาค้นคว้าศึกษากันอย่างต่อเนื่อง และยืนยันตรงกันว่า เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายแน่นอน ซึ่งคณะที่มาศึกษาค้นคว้าต่างยืนยันว่า เป็นยานมาศ 1 ใน 6 ลำ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย และลำนี้เป็นลำที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนที่อื่น ผุพังเป็นชิ้นส่วนหมดแล้ว และตามประวัติวัดที่มีความเกี่ยวเนื่องกับองค์พระเพทราชา สามารถยืนยันได้ว่าเป็นยานมาศของพระองค์ท่านแน่นอน โดยยานมาศลำนี้ ได้บูรณะไปครึ่งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2498 โดยช่างชาวจีนชื่อ “แปะหนัง แซ่หว่อง” ซึ่งเป็นช่างคนเดียวกับที่บูรณะวัดราชนัดดา เนื่องจากช่วงกลางที่ใช้นั่งได้ชำรุดผุพัง ส่วนกลางจึงเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งชิ้นส่วนที่ผุพังก็ยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัด และเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีอีกอย่าง คือ ใบเสมาคู่รอบโบสถ์ เป็นเรื่องยืนยันได้ว่า สมัยก่อนวัดนี้เคยเป็นวัดหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงบูรณะ และมาประกอบพิธีวิสุงคามสีมา หรือฉลองอุโบสถ ซึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นก็คือ พระเพทราชา นั่นเอง
ทางด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดสุพรรณบุรี ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาประวัติความเป็นมาของพระยานมาศ ที่วัดกุฎีทอง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ยาวนาน น่าจะอยู่ในช่วงอยุธยาตอนปลาย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต่อไป อาจได้มีการจัดเสวนา เพื่อชำระประวัติศาสตร์ ของสมเด็จพระเพทราชา และ ยานมาศ (เสลี่ยงนั่ง) ที่สมบูรณ์ และเหลือเพียง 6 ลำในประเทศไทย ที่สมเด็จพระเพทราชา พระองค์ทรงถวายไว้ที่วัดกุฏีทอง โดยเจ้าอาวาสองค์ก่อนได้สร้างตำหนักพระเพทราชาไว้ก่อนจะมรณะภาพ และต่อไปจะได้เตรียมจัดสร้างอนุสาวรีย์ รูปหล่อพระเพทราชา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาว สุพรรณบุรีต่อไป.
ศูนย์ข่าวจิตอาสา
นันทชัย ศิริอรุณรัตน์ – รัชนีกร โพธิ์ไพจิต