มรภ.สงขลา ชนะเลิศแนวปฏิบัติที่ดีด้านประกันคุณภาพการศึกษา
มรภ.สงขลา ผุดแนวคิด “QA Active Day”ระดมกึ๋นบุคลากรร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทำงาน คว้ารางวัลชนะเลิศแนวปฏิบัติที่ดีด้านประกันคุณภาพการศึกษา เชื่อใช้เป็นฐานข้อมูลต่อยอดพัฒนางาน
น.ส.จุฑาพร บุญยัง นักวิชาการศึกษางานมาตรฐานและประกันคุณภาพ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนเป็นตัวแทนงานมาตรฐานและประกันคุณภาพ มรภ.สงขลา เข้ารับรางวัลชนะเลิศแนวปฏิบัติที่ดีด้านการประกันคุณภาพการศึกษา จากผลงาน “พัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษา QA Active Day” ซึ่งเข้าร่วมประกวดแนวปฏิบัติที่ดีในงานเวทีคุณภาพ สถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 8 ณ มรภ.นครศรีธรรมราช โดยมีแนวคิดให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ ภายใต้กิจกรรมการรวมกลุ่มบุคลากรที่ดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของทุกหน่วยงาน เพื่อการระดมสมองคิด (Focus Group) และวิเคราะห์การพัฒนาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ใน
โครงการ QA Active Day วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านประกันคุณภาพการศึกษา ร่วมหารือและวางแผนพัฒนางาน ตลอดจนสรุปและรายงานผลการดำเนินโครงการ เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.จุฑาพร ยังกล่าวอีกว่า โครงการ QA Active Day มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งระดับหน่วยงานและระดับมหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ปรับปรุง พัฒนางานและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การวิจัยด้านการประกันคุณภาพการศึกษา การพัฒนาตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินฯ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานที่เกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงาน สอดคล้องต่อการพัฒนาศักยภาพการประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากรและของ มรภ.สงขลา ประกอบกับนโยบายการบริหารของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนางานด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ ปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ โดยงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านต่างๆ
นักวิชาการศึกษางานมาตรฐานและประกันคุณภาพ กล่าวว่า มรภ.สงขลา เริ่มดำเนินงานด้านประกันคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ที่มีการกำหนดตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพฯ ตามความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาสอดคล้องตามกรอบตัวบ่งชี้การประเมินภายในสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งผลการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมาพบข้อเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยกำหนดให้หน่วยงานดำเนินงานในภารกิจเดียวกันอย่างบูรณาการ และประสานความร่วมมือ เพื่อให้มีผลการดำเนินงานและมีข้อมูลร่วมกัน จนเกิดเป็นผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จึงทำให้กระบวนการดำเนินกิจกรรมด้านการประกันคุณภาพ เป็นระบบการบริหารการศึกษาส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
“กลยุทธ์หรือปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ ต้องประกอบด้วย 1. มีแผนงานชัดเจนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนางานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม 2. มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการที่ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการคุณภาพการศึกษาทุกมิติตามภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา โดยความร่วมมืออย่างกระตือรือร้นของทุกหน่วยงาน และการสนับสนุนของผู้บริหาร 3. มีการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงาน ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และพัฒนางานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม และ 4. มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็ส่งผลทำให้เกิดเป็นวัฒนวิถีแห่งการมีส่วนร่วมในการหาแนวทางเพื่อการดำเนินงานที่มุ่งเป้าประสงค์ที่สำคัญในภาพรวมให้เกิดผลที่ดีต่อมหาวิทยาลัย” นักวิชาการศึกษางานมาตรฐานและประกันคุณภาพ กล่าว
นายปรีชาสถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่/สงขลา