วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

สืบสานการแห่ปลาช่อนขอฝน ชาวบ้านวัดเขาพระฯ

ชาวบ้านวัดเขาพระฯ จ.สุพรรณบุรี สืบสานการแห่ปลาช่อนขอฝนเชื่อไม่ทำจะทำให้เจ็บป่วย

เมื่อเวลา 7.00 น.วันที่ 23 พ.ค.61 ที่ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ 5 บ้านวัดเขาพระ ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงาน พิธีทำบุญกลางบ้าน แห่ปลาช่อน เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งชาวบ้านวัดเขาพระฯ มีอาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา ทำการเกษตรกันมาเป็นเวลาช้านาน

ซึ่งประเพณีพื้นบ้าน ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อการขอฝน และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวบ้าน ซึ่งในพิธี จะมีในทุก วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 โดยมีการตั้งแท่นบูชากลางแจ้ง และนำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปองค์เทพสมมุติ วางกับพื้น โดยจะมีปลาช่อนใส่กะละมัง 2 ตัว วางอยู่เคียงข้างกัน ซึ่งชาวบ้านจะนิมนต์พระมาทำพิธีสวดขอฝน และเลี้ยงพระทำบุญ หลังจากพระฉันท์อาหารเช้า ให้พรเสร็จแล้วนั้น ชาวบ้านจะทำการแห่ปลาช่อน โดยการรำแคน 1 เพลง ก่อนจะอธิษฐานขอฝน จากนั้นจึงนำปลาช่อนลงไปปล่อยที่บ่อน้ำภายในวัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม ซึ่งประเพณีดังกล่าว ชาวไทย เชื้อสายลาวพวน ในหมู่บ้านวัดเขาพระ ทั้ง หมู่ 5 และ หมู่ 9 ได้เริ่มกระทำมาเป็น100ปี แล้วสืบทอดเป็นประเพณีมาถึงปัจจุบัน จากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบันเริ่มเลือนหายไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงความเชื่อปฏิบัติสืบต่อกันมา

ทางด้าน นางสมบุญ เขียวเซ็น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 กล่าวว่า ประเพณีแห่ปลาช่อนขอฝนของชาวบ้านวัดเขาพระฯนั้น เริ่มจากชาวไทย เชื้อสายลาวพวน ได้ทำสืบต่อมานับร้อยปี โดยเมื่อก่อนนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าว่าจากการแห่นางแมวเพื่อขอฝน ทำให้ดูเป็นการทรมาณสัตว์ ชาวบ้านในยุคก่อนจึงเปลี่ยนมาเป็นการแห่ ปลาช่อนแทน แต่จุดประสงค์ คือการขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเชื่อสืบต่อกันมา เมื่อถึง วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ต้องจัดทำบุญแห่ปลาช่อน ในทันที หากไม่เช่นนั้นจะต้องมีผู้นำชุมชนล้มป่วยลงแบบไม่ทราบสาเหตุ แม้กระทั่งแค่คิดจะเลื่อน ซึ่งตนเองได้ปรึกษากับลูกบ้านว่าเตรียมการไม่ทันจะเลื่อนออกไป หลักตกลงว่าจะเลื่อน ทั้ง 3 คน จู่ๆก็เกิดอาการใจสั่น เวียนหัว เหมือนจะเป็นลม ต้องจุดธูปบอกกล่าวว่าจะจัดวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ตามกำหนดจากนั้นทุกคนก็หายจากอาการดังกล่าวทันที ซึ่งเป็นมาทุกยุค หากลืม หรือ ไม่จัดจะมีคนเจ็บป่วยจนต้องจัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งชาวบ้านวัดเขาพระศรีสรรเพชญารามจะปฏิบัติเพื่อสืบทอดและสืบสานประเพณีต่อไป

Loading