วันจันทร์, 24 กุมภาพันธ์ 2568

โรงพยาบาลสามพรานอบรม อสม.ฟื้นฟูการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก

โรงพยาบาลสามพรานอบรมอสม.ฟื้นฟูการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก

เมื่อวันที่7 มิถุนายน2561 ที่ห้องประชุมชั้น4 โรงพยาบาลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดนครปฐมพบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นอันดับ4ของประเทศและอำเภอสามพรานมีผู้ป่วยเป็นอันดับ1ของจังหวัดนครปฐม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ โดยในวันนี้โรงพยาบาลสามพราน ได้จัดการอบรมอสม.ฟื้นฟูการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก ซึ่งมี นางพัชรี เกษรบุญนาค หัวหน้ากลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน พร้อมด้วยนางสาวพรทิพย์ ลิ้มวนานนท์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ เป็นผู้จัดและเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้อสม.จำนวน200 คน เพื่อฟื้นฟูการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก ในชุมชนอย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีผู้ป่วยในเขตอำเภอสามพรานเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องให้อสม.ที่ใก้ลชิดชุมชน ช่วยดำเนินการ

โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สถิติในปี พ.ศ. 2554 รายงานโดย กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีอัตราป่วย 107.02 และอัตราป่วยตาย 0.10 ซึ่งหมายความว่า ในประชากรทุก 100,000 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 107.02 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.1 คน อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด กล่าวคือ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด (Touniquet test) จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือด

ออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ โดยอาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษาทันที

พัชรี เกษรบุญนาค

Loading