วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

ราชบุรี!!เกษตรกรเลี้ยงไก่”ประดู่ดำ โตเร็ว นำ้หนักดี ขายได้ราคา”

18 ก.ย. 2018
155

ราชบุรี เลี้ยงไก่ “ ประดู่ดํา ” โตเร็ว น้ำหนักดี ขายได้ราคา

เกษตรกรชาว ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี หนุนเลี้ยงไก่ประดู่ดำสายพันธุ์ผสม ได้ความรู้จากศูนย์วิจัยสัตว์หนองกวาง ข้อเด่น เลี้ยงง่าย โตเร็ว ราคาดี ทนต่อโรค เลี้ยงแบบธรรมชาติท่ามกลางป่าไผ่ ผสมผสานกับ ห่าน เป็ดบาบารี่ ในพื้นที่โล่งแจ้งได้ หลังเลี้ยงมีออร์เดอร์สั่งเพียบ

วันที่ 18 ก.ย.61) ป่าไผ่รวกประมาณ 1 ไร่เศษของนายไชยวิทย์ บัวงาม ประธานอาสาสมัครเกษตร จังหวัดราชบุรี ถูกจัดสรรพื้นที่แบ่งการสร้างเป็นโรงเรือนเล็ก ๆ เลี้ยงไก่สายพันธุ์ประดู่ดำ รวมกับ ห่าน และเป็ดบาบารี่ กว่า 400 ตัว เลี้ยงมาแล้วหลายรุ่นหมุนเวียนไป เพื่อให้มีส่งขาย ตลาดได้ตลอดทั้งปี การเลี้ยงไก่ผสมผสานรวมกันแบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก โดยได้นำลูกไก่สายพันธุ์ประดู่ดำนี้ ที่ไปซื้อมาจากศูนย์วิจัยสัตว์หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในราคาตัวละ 20 บาท มาปล่อยเลี้ยงรวมกัน ทั้งไก่ เป็ด ห่าน ในป่าไผ่ที่ปลูกไว้หลายสิบกอให้ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี ฝูงไก่ ฝูงเป็ด รวมถึงห่าน ได้คุ้ยเขี่ยหากินเองตามธรรมชาติ จะมีให้อาหารเสริมเล็กน้อย มีอ่างน้ำให้ลูกเป็ดได้เล่น เสริมมีสุขภาพแข็งแรงได้วิ่งกระพือปีกเล่นออกกำลังกาย และยังช่วยให้สัตว์มีการเจริญเติบโตเร็ว สามารถอยู่ร่วมกันได้ไม่เกิดปัญหา

นายไชยวิทย์ บัวงาม อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ 4 ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า เป็นไก่สายพันธุ์ประดู่หางดำ เป็นสายพันธุ์มาจาก จ.เชียงใหม่ ทางหน่วยราชการได้นำมาส่งเสริมอยู่ที่ศูนย์วิจัยสัตว์หนองกวาง อ.โพธาราม จึงทดลองนำมาเลี้ยง เพราะอยากรู้ว่าไก่สายพันธุ์นี้จะเลี้ยงอย่างไรมีความแตกต่างกับไก่พื้นบ้านอย่างไรบาง แต่พอเลี้ยงแล้วมีความรู้สึกเลี้ยงง่ายมาก มีความต้านทานต่อโรค และอากาศที่เป็นธรรมชาติ หลังนำมาเลี้ยงใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง ไก่มีน้ำหนักประมาณ 1.5 -1.8 กก. ก็จับส่งขายกิโลกรัมละ 80 บาท หรือ ตัวละประมาณ 120 – 144 บาท

ส่วนชุดที่กำลังเลี้ยงอยู่นี้ บางตัวมีน้ำหนักมากไปถึง 2 กิโลกรัม/ตัว แม้ว่าไก่สายพันธุ์นี้ดูจะตื่น ๆ คน เมื่อเข้าใกล้ก็จะวิ่งหนี แต่มีจุดเด่น คือ ใช้ระยะการเลี้ยงสั้น เป็นการเลี้ยงแบบระบบอินทรีย์ คือ การปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติให้หาอาหารคุ้ยเขี่ยกินเอง อาจจะมีอาหารเสริมให้กินบ้างช่วงเย็น ๆ เป็นการลดต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรด้วย และน่าที่จะส่งเสริมให้เพื่อน ๆ ที่สนใจอยากเลี้ยง อาจจะใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น สังกะสี หรือ ตาข่ายนำไปล้อมกั้นเป็นคอก เพื่อไม่ให้สุนัขเข้ามารบกวน สามารถสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งได้

ส่วนความแตกต่างระหว่างไก่ดำสายพันธุ์ประดู่หางดำ กับไก่พื้นบ้านนั้น ไก่ประดู่หางดำ จะมีอัตราการแลกเนื้อสูงกว่าไก่พื้นบ้าน เนื้อเหมือนไก่พื้นบ้านทั่วไป แต่การเจริญเติบโตดีกว่ากัน ขนเป็นสีดำวาวเกือบตลอดทั้งตัว แต่เนื้อกลับไม่เป็นสีดำ เป็นไก่ชนพื้นเมืองที่มีการนำมาผสมสายพันธุ์ออกมาเป็นสายพันธุ์ประดู่หางดำ จึงออกมาเป็นลูกไก่ที่มีขนดำเงางาม ลักษณะจะไม่ค่อยเชื่อง ปราดเปรียวมาก และยังมีข้อดีคือให้น้ำหนักมากกว่าไก่พื้นบ้านอีกด้วย สำหรับสายพันธุ์ไก่พื้นบ้านทั่วไป จะมีการขายช่วงระหว่างมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 1.5 กก. อยู่ในช่วงพอดี เนื้อไม่เหนียวจนเกินไป แต่หากเป็นไก่สายพันธุ์ประดู่หางดำ จะสามารถเจริญเติบโตได้ถึงน้ำหนักประมาณ 2.50 กก./ ตัว การเลี้ยงดูแลจะทยอยจับขายเป็นรุ่น ๆ หมุนเวียนกันไปทำให้มีเงินใช้ไม่ขาดมือ

นอกจากนี้ยังมีเป็ดบาบารี่ ที่ได้นำมาทดลองเลี้ยงร่วมกัน ซึ่งกำลังมีความต้องการของตลาดอยู่ เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว ถ้ามีแหล่งน้ำให้เล่น มีสถานที่ส่งขายประจำในราคากิโลกรัมละ 55-60 บาท เป็ด 1 ตัว มีนำหนักประมาณกว่า 2 กิโลกรัม คิดออกมาเป็นเงินแล้วประมาณตัวละ 110 – 120 บาท ผลของการเลี้ยงเป็ดและไก่รวมกันมาระยะหนึ่ง ก็ได้รู้ว่าสามารถเลี้ยงรวมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ทั้งเป็น ทั้งไก่ อยู่ด้วยสภาพพื้นที่แบบธรรมชาติ ทำให้ น้ำหนักดี เติบโตเร็ว และขายได้ราคาดีด้วย

สุจินต์ นฤภัย (เต้)

Loading