เกษตรกรรวมกลุ่มเพาะขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิขาย
ชาวสวนมะพร้าวใน ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี รวมกลุ่มเพาะขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิขายเสริมรายได้ หลังประสบปัญหาราคามะพร้าวแกงตกต่ำ จึงเพาะขยายพันธุ์ขายมะพร้าวกะทิขายหน่อละ 150 บาท ขณะที่ผลมะพร้าวกะทิมีราคาสูงหน้าสวนลูกละ 80 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร
วันที่ 18 ต.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า… เกษตรกรกลุ่มพันธุ์มะพร้าวกะทิคลองตาจ่า ต.คุ้งกระถิน อ.เมือง จ.ราชบุรี จำนวน 26 ราย ได้รวมกลุ่มกันหันมาเพาะขยายพันธุ์หน่อมะพร้าวกะทิส่งขาย หลังจากปัจจุบันมะพร้าวแกงประสบปัญหาราคาตกต่ำ เหลือลูกละไม่ถึง 5 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่เดือดร้อน ต้องหันมาหาวิธีการหารายได้เพิ่ม เห็นว่ามะพร้าวแกง 1 ต้นออกผลมา ภายใน 1 ต้นก็จะมีมะพร้าวกะทิปะปนมาด้วยประมาณ 1 – 4 ลูก บางต้นเป็นมะพร้าวแกงทั้งหมดไม่มีมะพร้าวกะทิเลยก็มี ดังนั้นมะพร้าวกะทิจึงยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค นำไปทำขนมหวาน หรือกินสดราดน้ำตาลทรายก็กินได้
ทั้งนี้แม้ว่าชาวสวนปลูกมะพร้าวจะมีปลูกกันมาหลายสิบปีแล้ว และพบมะพร้าวกะทิปะปนอยู่กับมะพร้าวแกงจำนวนมาก แต่มะพร้าวกะทินั้นก็ยังไม่มีแบรนด์เป็นของชุมชน ต่อมาทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาสนับสนุนผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง ได้แนะนำให้ชาวบ้านนำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ามาทำให้เกิดรายได้ในชุมชน จึงสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือน รวมกลุ่มกันเพาะขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิ โดยรับซื้อจากชาวสวนและสมาชิกที่มีสายพันธุ์มะพร้าวกะทิอยู่เข้ามาเพาะพันธุ์เกือบ 2,000 ลูก จะมีช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะขายและแบ่งเงินปันผลให้กับกลุ่มสมาชิกได้
โดยสมาชิกในกลุ่มมีความชำนาญในการคัดเลือกสายพันธุ์มะพร้าวกะทิ ออกจากมะพร้าวแกง ที่รับซื้อจากชาวสวน ช่วงที่เก็บเกี่ยวลงจากต้นจะต้องใช้มือเขย่าให้รู้ว่าลูกมะพร้าวลูกไหนเป็นมะพร้าวแกง ลูกไหนเป็นมะพร้ากะทิจริง ๆ แต่ที่จะเอามาเพาะเข้า เพาะในโรงเรือน ต้องใช้มะพร้าวที่ไม่เป็นกะทิเท่านั้น เพราะหากใช้มะพร้าวกะทิมาเพาะจะเกิดการเน่าเสีย วิธีการเพาะจะใช้มีดปาดบริเวณหัวนำไปวางเรียงในที่ร่มรดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 2 เดือนมะพร้าวกะทิเริ่มแต่หน่อ 3 เดือนก็สามารถนำออกขายได้หน่อละ 150 บาท
ทั้งนี้นายสุวโรจน์ เทพเทียนชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.คุ้งกระถิน สมาชิกกลุ่มฯ กล่าวว่า มะพร้าวกะทินั้น บางต้นมีอยู่ประมาณ 2-3 ลูก บางต้นก็ไม่เจอเลย ที่เหลือก็จะเป็นมะพร้าวแกงเป็นส่วยใหญ่ โดยชาวสวนจะอาศัยความรู้เฉพาะตัวในการฟังเสียงเวลาเขย่าลูกมะพร้าวกะทิเสียงน้ำจะแตกต่างกัน เมื่อสอยลงจากต้นแล้วเขย่าฟังเสียงน้ำ ถ้าดังขลุก ๆ หนัก ๆ จะเป็นมะพร้าวกะทิเนื้อค่อนข้างเหนียวฟูหนา จะกินสดเอาน้ำตาลทรายมาราดรับประทานได้เลย หรือขายแม่ค้านำไปแปรรูปทำไอศรีม หรือจะแปรรูปตัดเป็นลูกเต๋าผสมใส่ขนมหวานทับทิมกรอบ รวมมิตร บัวลอยไข่หวานและขนมหวานทั่วไป
หากเป็นมะพร้าวธรรมดาเมื่อฟังเสียงจะมีเสียงน้ำมากใส ๆ เป็นมะพร้าวแกงทั่วไป ไม่เหมือนกัน โดยเจ้าของสวนจะทำตำหนิที่ต้นไว้ เช่น มะพร้าว 100 ต้น จะเป็นมะพร้าวกะทิประมาณ 40 ต้น แต่ละต้นมีมะพร้าวกะทิอยู่ไม่เท่ากัน และต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของท้องถิ่นในการคัดเท่านั้น ราคาขายหน้าสวนตอนนี้เริ่มต้นที่ลูกละ 60 บาท แล้วแต่แม่ค้าจะเอาไปส่งขายที่ไหน บางที่ส่งที่กรุงเทพฯขายลูกละ 80 บาท แต่ที่ตลาดอัมพวา จ.สมุทรสงครามขายอยู่ลูกละ 180 – 200 บาท ตอนนี้มีออเดอร์ลูกค้าหลายราย ที่ติดต่อสั่งเข้ามากเอาแบบต้นหน่อไปปลูก แต่ยังไม่ครบกำหนดส่งให้
ส่วนทางด้านนายเชาว์ วิเศษโชค เกษตรอำเภอเมืองราชบุรี เปิดเผยว่า เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้อำเภอเมืองราชบุรี ดำเนินโครงการให้ชุมชนเป็นผู้คิดโครงการและเสนอให้ทางคณะกรรมการด้านการเกษตรระดับอำเภอเป็นผู้พิจารณา โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนงบประมาณมาให้กลุ่มจำนวน 99,900 บาท มาจัดซื้อปัจจัยการผลิตให้กลุ่ม ส่วนค่าแรงทางเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการเอง ตามแผนที่ตั้งไว้ ถือว่าเป็นโครงการที่แตกต่างจากโครงการอื่น ๆ จุดเด่นคือ มะพร้าวเป็นพืชหลักในพื้นที่ที่มีการปลูกกันอยู่แล้ว เพียงแต่นำมะพร้าวกะทิมาเพาะขยายพันธุ์ต่อยอดสร้างรายได้เสริม ขณะที่ช่วงนี้ตลาดมะพร้าวมีราคาตกต่ำมีปัญหาอยู่ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร นำจุดเด่นของมะพร้าวกะทิมาเป็นจุดขาย ขณะนี้มีเกษตรกรต่างจังหวัดติดต่อขอซื้อพันธุ์มะพร้าวกะทิแล้วจำนวนมาก เพราะยังไม่มีที่อื่นที่ทำมาก่อน ถือเป็นที่แรกก็ว่าได้ ที่มีแนวคิดทำโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมา
สุจินต์ นฤภัย (เต้)