จับคู่ธุรกิจชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
ปลัดจังหวัดเปิดงานโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่โรงแรม ณ เวลา อ.เมือง มี การจับคู่ธุรกิจและการเจรจาธุรกิจ ผู้ประกอบการชุมชน พบนักธุรกิจในพื้นที่ราชบุรี เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
วันที่ 31 ต.ค.61) ที่โรงแรม ณ เวลา อ.เมือง จ.ราชบุรี นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ ปลัดจังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดงานการจับคู่ธุรกิจโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีนายสุทธิรักษ์ หงสะมัต พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด ประธานประชารัฐรักสามัคคีราชบุรี จำกัด ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด เครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ธนาคาร ผู้ประกอบกิจการเข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก
โดยจังหวัดราชบุรี ได้ดำเนินการโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 50 หมู่บ้าน ได้ดำเนินงาน 5 กิจกรรม ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว และเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ( Business Matching) เป็นกิจกรรมย่อย 1 ใน 4 ของกิจกรรมส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงการตลาดท่องเที่ยวกับภาคธุรกิจระดับจังหวัด โดยการจับคู่ธุรกิจ เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนที่สนับสนุนหรือมีธุรกิจในการดำเนินการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนท่องเที่ยวได้นำเสนอศักยภาพ ความสามารถ เสน่ห์ อัตลักษณ์ สินค้าและบริการของชุมชน เพื่อสร้างความประทับใจ และเชิญชวนให้ประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง”การจัดการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ชุมชนอย่างยั่งยืน “โดยวิทยากรภาคเอกชน และการเจรจาธุรกิจและจับคู่ธุรกิจ ผู้ประกอบการชุมชน พบกับนักธุรกิจในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งการแสดงผลงานของชุมชนรวม 50 หมู่บ้านนำมาจัดแสดงภายในงานดังกล่าวด้วย เช่น ผ้าทอพื้นเมือง ได้แก่ ผ้าตีนจกของชุมชนชาวคูบัว หัตถกรรมจักสานจากเชือกกล้วยจากบ้านช่างสกุลบายศรี อาหารแปรรูป น้ำพริก น้ำเฉาก๊วยในเห็ดหลินจือ น้ำอ้อยดำสมุนไพร ไข่เค็มลาวาใช้น้ำพุร้อนในพื้นที่อำเภอบ้านคานำมาเป็นส่วนผสมบรรจุใส่ในกระบอกไม้ไผ่ในท้องถิ่นที่สวยงามเก๋ไก๋ ผักกางมุ้งเช่น ผลอโวคาโด้ ถั่วฝักยาวกินได้สดๆและผักอื่นๆ จากเครือขายโครงการหลวงปลอดภัยของเกษตรกรในพื้นที่ อ.บ้านคา และยังมีสินค้าแปรรูปอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย
ทั้งนี้ นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ ปลัดจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงการจัดงานว่า การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม ให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ในชุมชน ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวโดยใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์แปลงเป็นรายได้ ให้ชุมชนท่องเที่ยวเป็นเจ้าบ้านที่ดี ชวนกันทำผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ มีเสน่ห์ดึงดูดและมีคุณค่าเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนและใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน ทำให้รายได้จะกระจายอยู่กับคนในชุมชนและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
สุจินต์ นฤภัย (เต้)