สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส นำประชาชนสองศาสนา ร่วมปลูกข้าวดำนา ย้อนรอยอดีต กิจกรรม “มนต์เสน่ห์พหุวัฒนธรรม” สายสัมพันธ์พี่น้องพุทธมุสลิมนราธิวาส ตั้งเป้าร่วมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวประจำถิ่น “ข้าวซีบูกันตังและข้าวหอมกระดังงา”
ที่บริเวณโรงสีข้าวพิกุลทอง หมู่ที่ 1 บ้านปูยู ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดงาน“มนต์เสน่ห์พหุวัฒนธรรม” สายสัมพันธ์พี่น้องพุทธมุสลิมนราธิวาส โดยมี พ.อ.พิเชษฐ์ ชุติเดโช รอง ผอ.ฉก.นร. นางสาวนฤมล นุตยะสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายประภาส มากทอง สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน และตำบลพร่อน นักเรียน เยาวชน คณะครู และบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
หลังจากพิธีเปิดงานรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะร่วมปลูกต้นไม้ และเดินทางไปยังแปลงนา เพื่อร่วมดำนากับหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน โดยจัดทำเป็นรูปหัวใจ เพื่อสื่อถึงความรัก สามัคคีในชุมชน และเป็นการสื่อถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการสานต่อภาคการเกษตร และการลดต้นทุนการเกษตร โดยกลุ่มเกษตรกรชาวนาในชุมชนร่วมปักดำนา เพื่อสืบสานวิถีชีวิตชาวนาชายแดนใต้คงไว้บนความพอเพียง หลังจากปลูกข้าวไปแล้วคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ในวันที่ 2 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย จังหวัดนราธิวาส กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในงานมนต์เสน่ห์พหุวัฒนธรรม สายสัมพันธ์พี่น้องพุทธมุสลิมนราธิวาส ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการเรียนรู้ ผู้นำศาสนาร่วมพบปะพูดคุยกับผู้มาร่วมงาน การแสดงของนักเรียน และการประกวดและแสดงผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่
ด้านนายประภาส มากทอง สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2528 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมราชบพิตร ได้พระราชทานโรงสีข้าวพิกุลทองให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯนำมาใช้ศึกษาวิจัยเรื่องข้าวและให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันในการสีข้าวเพื่อการบริโภค การให้บริการธนาคารข้าว ซึ่งจังหวัดนราธิวาสได้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเรื่อยมาเพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในชุมชนในชุมชนตำบลเกาะสะท้อนและ ตำบลพร่อน อ.ตากใบ จนเกิดผลเชิงประจักษ์ในการนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตแก่พี่น้องประชาชนรวมถึงสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องพุทธมุสลิมในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์สถานการณ์ใด เข้ามากระทบนำไปสู่การกล่าวขานว่าโรงสีข้าวพิกุลทอง คือ โรงสีเพื่อการพัฒนาขุมขนสังคม อย่างแท้จริง
ประกอบกับในปี พ.ศ.2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้จัดทำพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าวพิกุลทอง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สืบสารวิถีชีวิตชาวนาแก่เด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้จัดให้มีฐานเรียนรู้ในบริเวณโรงสีฯจำนวน 9 ฐานเรียนรู้และในชุมชนเขตให้บริการของโรงสีอีก 9 ฐานเรียนรู้ และจัดให้มีกิจกรรมประจำปีขึ้นอีกหลายประการ เช่น ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจัดกิจกรรมสืบสานวิถีชีวิตชาวนา “วันฤดูปักดำนา” ในต้นเดือนเมษายน ของทุกปีจัดกิจกรรม “วันฤดูเก็บเกี่ยวข้าว” โดยมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้และการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีของพี่น้องประชาชนในชุมชน
สำหรับกิจกรรม “มนต์เสน่ห์พหุวัฒนธรรมสายสัมพันธ์พี่น้องพุทธมุสลิมนราธิวาส” เป็นกิจกรรมสืบสานวิถีชีวิตชาวนาชายแดนใต้ดำรงไว้บนความพอเพียง และการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวประจำถิ่น “ข้าวซีบูกันตังและข้าวกระดังงา” โดยมีเกษตรกรพี่น้องประชาชนพุทธมุสลิมในพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน 9 หมู่บ้าน และตำบลพร่อนใน 6 หมู่บ้าน รวมถึงเด็กและเยาวชนมาร่วมงาน จำนวนกว่า 700 คน ซึ่งภายในงานจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการเรียนรู้ การประกวดและแสดงผลผลิตทางการเกษตร การร่วมกิจกรรมปักดำนาสายสัมพันธ์พี่น้องพุทธมุสลิม.
ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส