พะเยา – ระบาดทั้งจังหวัด!!! สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา เตือนภัยการระบาดหนอนกระทู้ Fall Armyworm ระบาดหนักในแปลงข้าวโพด พบผลผลิตเริ่มเสียหายแล้วกว่า 3000ไร่ เกษตรจังหวัดฯเร่งสำรวจและช่วยเหลือหวั่นผลกระทบกว้าง
จากการที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา พบแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ ( Fall Armyworm )ในพื้นปลูกข้าวโพดของอำเภอปง และอำเภอเชียงคำ และเริ่มขยายวงกว้างออกไปสู่อำเภออื่นๆ
ล่าสุดวันนี้ ( 27 ธันวาคม 2561 )ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมกับ นายธนากร กีรติสุธน(กี-ระ-ติ-สุ-ทะ-นะ) หน.กลุ่มอารักขาพืช สนง.เกษตรจังหวัดพะเยา น.ส.สมใจ สมศิริ หน.สนง.เกษตรอำเภอเชียงคำ พร้อมเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบไร่ข้าวโพดหวาน ของ นางประทวน ใจดี อายุ 46 ปี ชาวบ้านศรีพรม ม.13 ต.ฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา เกษตรกรในพื้นที่ โดยปลูกไว้จำนวน 9 ไร่ พบว่ามีการระบาดหนอนกระทู้ Fall Armyworm ในแปลงข้าวโพดจริง กว่า 1 ไร่ จึงแนะนำให้หมั่นสำรวจแปลงพืชของตนเองอยู่เสมอ
ในขณะที่ อ.ภูซาง นายการุณย์ มโนใจ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอฯ เปิดเผยว่า พื้นที่ อ.ภูซาง พบการระบาดประมาณ ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งอำเภอ ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจและประชาสัมพันธ์เรื่องการตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด และหากพบว่าในพื้นที่มีการระบาดมากว่า 20เปอร์เซนต์ เกษตรกรต้องทำลายด้วยการฝังกลบเพียงอย่างเดียว
สำหรับพื้นที่ทั้งจังหวัดที่เกษตรกรได้ทำการปลูกข้าวโพดมีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นไร่นั้น หลังจากการตรวจสอบและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 3,000ไร่ ทั้งนี้แนะนำให้ทางเกษตรกรตรวจสอบแปลงพืชของตนเองสม่ำเสมอ หากพบหนอนกระทู้ Fall Armyworm ระบาด ให้ติดต่อไปยัง สนง.เกษตรตำบล/อำเภอ ที่ตนอาศัยอยู่เพื่อขอคำแนะนำการกำจัดหรือป้องกันการระบาด
หนอนกระทู้จะทำลายพืชในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น โดยระบาดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งแผ่นใบ และจะพบตัวหนอนหลบซ่อน แสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือ ในระยะต้นอ่อนทำให้พืชตาย ระยะต้นแก่พืช จะไม่เจริญเติบโต ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 73% ของพื้นที่
พืชอาหาร หนอนกระทู้ fall armyworm มีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด ซึ่งนอกจากข้าวโพดแล้ว ยังมีพืชอาศัยอื่นที่ เป็นแหล่งอาหาร เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันหวาน พริกหยวก พืชวงศ์กะหล่ำ พืชวงศ์แตง พืชวงศ์ถั่ว และพืชผักอีกหลายชนิด สร้างความเสียหายในระยะหนอนกินใบ สามารถแพร่กระจายทางอากาศได้อย่างรวดเร็ว หากพบการระบาดในพื้นที่ให้แจ้งกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา โทร. 0 5488 7050 ต่อ 28
(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา)