นราธิวาส แข่งขันตีเกราะเคาะไม้สืบสานการอนุรักษ์วัฒนธรรม
นายกริช น้อยผา นายอำเภอศรีสาคร/ผอ.ศปกอ.ศรีสาคร พร้อมด้วย นายอัมรันท์ บากา ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง ให้การต้อนรับ นายสมหวัง เรืองเพ็ง ปลัดจังหวัดนราธิวาส ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันตีเกราะเคาะไม้ อำเภอศรีสาคร โดยมีผู้เข้าร่วมการจัดกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ที่ 49 ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรศรีสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ปกครอง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล สมาชิก อส. และบุคลากร ที่ว่าการอำเภอศรีสาคร รวม 300 คน เข้าร่วมการจัดกิจกรรม ณ ลานเอนกประสงค์หน้าที่ว่าการอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส การจัดกิจกรรมแข่งขัน ตีเกราะเคาะไม้ อำเภอศรีสาคร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรม “การตีเกราะเคาะไม้” ซึ่งในอดีตถือเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อถึงเวลาที่จะมีการประชุมราษฎรในหมู่บ้าน หรือมีเหตุด่วน เหตุร้าย บอกเหตุต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจะตีเกราะเคาะไม้ทันที ในสมัยอดีต ผู้ที่มาประชุมจะไม่มีที่นั่งเบาะนุ่ม ๆ ให้นั่ง บ้างก็นั่งยอง ๆ บนลาน บ้างก็นั่งบนเสื่อที่นำมาจากบ้าน บ้างก็นั่งบนขอนไม้ ไม่มีแอร์คอนดิชั่น ไม่มีไมโครโฟน ซึ่งเป็นบรรยากาศเก่า ๆ ที่น่าจดจำยิ่งนัก ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีหมู่บ้านที่ส่งเกราะเคาะไม้ เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น จำนวน ๓๕ หมู่บ้าน โดยมีเงินรางวัลสำหรับการแข่งขัน จำนวน ๓ รางวัล คือ
รางวัลชนะเลิศ เป็นเงินสด จำนวน 20000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ เป็นเงินสด จำนวน 10000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ เป็นเงินสด จำนวน 5000บาท
นายสมหวัง เรืองเพ็ง ปลัดจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เกราะเคาะไม้ อำเภอศรีสาคร ว่าขอชื่นชมนายกริช น้อยผา อำเภอศรีสาคร ที่จัดให้มีโครงการแข่งขันตีเกราะเคาะไม้ในครั้งนี้ ในสมัยอดีตหมู่บ้านต่าง ๆ มีการตีเกราะเคาะไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นเอกลักษณ์ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของฝ่ายปกครองประการหนึ่งก็ว่าได้ เป็นเครื่องสัญญาณเพื่อเรียกราษฎรมาร่วมประชุม บอกความเคลื่อนไหวให้เป็นที่สังเกต นัดแนะหรือบอกเหตุร้าย การตีเกราะเคาะไม้ มีความสัมพันธ์และความสำคัญที่คู่มากับผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี และเป็นวิถีชีวิตจิตวิญญาณของนักปกครอง แม้เรื่องราวต่าง ๆ จะเลือนรางหายไปก็ตาม
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นสถาบันอันทรงเกียรติ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ และเป็นหัวหน้าของราษฎรในหมู่บ้าน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ มีที่มาจาก การเลือกของประชาชนในท้องที่โดยตรง จึงมีความใกล้ชิด รู้สภาพท้องที่ ปัญหาอุปสรรค และความต้องการของพี่น้องประชาชนมากที่สุด รวมทั้งนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ สำเร็จขึ้นได้ ล้วนมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทั้งสิ้น แม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานความมั่นคง หรือหน่วยกำลังในพื้นที่ทั้ง ๓ ฝ่าย (พลเรือน ตำรวจ และทหาร) ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จุดแตกหักของการแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ “หมู่บ้าน” ภายใต้การนำของผู้ใหญ่บ้าน
ปัจจุบันยังคงมี “เกราะ เคาะไม้” ให้เห็นอยู่บ้าง นิยมนำมาใช้แขวนประดับตกแต่งบ้านเรือน หรือ ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม ถือเป็นสิ่งคู่กับสังคมไทย ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และเป็นมรดกที่สำคัญ ซึ่งเป็นความภูมิใจแสดงถึงเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของคนไทย ในฐานะปลัดจังหวัด และเลือดเนื้อเชื้อสายโดยตรงของ ฝ่ายปกครอง จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า หากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของอำเภอศรีสาคร ได้รื้อฟื้นเอกลักษณ์การตีเกราะเคาะไม้ และใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จริงนับจากนี้ อำเภอศรีสาครจะเป็นอำเภอแรก ของจังหวัดนราธิวาส ที่สามารถอนุรักษ์ฟื้นฟู เผยแพร่สืบสานวัฒนธรรม “การตีเกราะ เคาะไม้” ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและรักษาไว้ตลอดไป
ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส