สอศ.อบรมแกนนำนักศึกษาองค์การเกษตรเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มอบหมายให้ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงาน กิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ ดำเนินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โดยให้วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ดำเนินโครงการพัฒนาแกนนำ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดอบรมพัฒนาครูที่ปรึกษา อกท. และคณะกรรมการดำเนินงาน อกท. ระหว่างวันที่ 8 – 11 มีนาคม 2562 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ดร.ชาติชาย เกตุพรหม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ประธานกรรมการอำนวยการ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ชาติ เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการฯ โดยเปิดเผยว่า การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมากว่า 40 ปี โดยทรงเน้นย้ำว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นแนวทาง การดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งสู่ความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน คือการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง การมีงานทำมีอาชีพ และการเป็นพลเมืองดี รวมทั้งการเดินตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9
เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด และดำเนินงานสนองพระราชดำริให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงน้อมนำพระกระแสรับสั่งต่างๆ สู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ผ่านการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาอุปนิสัย สร้างความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ สร้างความเป็นพลเมืองที่ดีให้เกิดขึ้นกับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน รวมทั้งใช้ในการเตรียมความพร้อมของคน ให้มีทุนทางปัญญาอย่างยั่งยืน มีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและนักเรียน นักศึกษาเพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตได้จริง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมุ่งเน้นพัฒนาสถานศึกษาในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชนมีคุณลักษณะ “อยู่อย่างพอเพียง” โดยได้มีการประกาศนโยบายการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคการศึกษา เพื่อให้องค์กรหลัก หน่วยงานและสถานศึกษา ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งโครงการดังกล่าวจะพัฒนาครูที่ปรึกษา อกท. ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อจัดกิจกรรม อกท.ฐานพอเพียง เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้แกนนำ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรม อกท. และเป็นพลังในการขับเคลื่อนหน่วย อกท. เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดยผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจและใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินกิจกรรม อกท. และทักษะการจัดกิจกรรม การทำงานเป็นทีมรวมทั้งสามารถนำความรู้ไปขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วย อกท. เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบได้เป็นอย่างดี
ภาพ-ข่าว/ณัฐเดช บุญประดิษฐ์
ปทุมธานี รายงาน