พสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรีร่วมพิธีทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล
เจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยความปลื้มปิติ ช่วงพระราชพิธีที่จังหวัดจันทบุรีมีฝนตกชุ่มฉ่ำทั่วเมืองจันทบุรี
วันนี้ ( 4 พ.ค.62 ) พสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี ทุกหมู่เหล่าต่างพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองเข้าวัดทำบุญปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลฯ และชื่นชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วยความปลื้มปิติ โดยที่วัดบูรพาพิทยาราม ( พระอารามหลวง ) ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธีตักบาตรอาหารแห้ง ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระภิกษุสงฆ์ 69 รูป / ที่วัดไผ่ล้อม ( พระอารามหลวง ) นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธีตักบาตร อาหารคาว – หวาน / ที่วัดจันทนาราม นายบุญช่วย น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธี ตักบาตร อาหารคาวหวาน / ที่วัดป่าคลองกุ้ง นายพูนศักดิ์ วาณิชวิเศษกุล จังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธีตักบาตรอาหารคาว – หวาน ส่วนวัดประจำอำเภอทั้ง 10 อำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธานนำข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธี หลังจากตักบาตรเสร็จ พสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วยความปลื้มปิติ แสดงออกถึงความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ในช่วงพิธีพระสงฆ์ได้เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานลั่นฆ้อง กลอง และระฆัง ในขณะที่ทั่วทั้งจังหวัดจันทบุรีมีฝนตกลงมาสร้างความร่มเย็นเป็นที่ปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวจันทบุรี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีตามราชประเพณี มาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ความจาก “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” บันทึกความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์และเป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนานโดยได้รับอิทธิพลจากคติอินเดีย แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูล เต็มตำรา ครั้น พ.ศ.2326 โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราที่เกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จใน พ.ศ.2328 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่งและแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ทีมข่าวภูมิภาค
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก