สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม โดยนางฐิติรัตน์ เค้าภูไทย วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม เข้ารับเกียรติบัตรในงานประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและพิธียกย่องเชิดชูเกียรติภาคีเครือข่ายดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงดำเนินกิจกรรมที่สำคัญคือ การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชาติให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง รวมทั้งเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของประเทศชาติ โดยกำหนดการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ด้านศิลปะการแสดง ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม และด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
ในปี พ.ศ. 2562 องค์ความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมตามลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้ง 6 ด้าน ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2562 จำนวน 18 รายการ ดังนี้ 1. ตำนานเขาสาปยา (เขาสรรพยา) ชัยนาท 2. ตำนานเมืองลพบุรี (ลพบุรี) 3. โปงลาง (กาฬสินธุ์) 4. กลองอืด (ตาก) 5. รำมอญ(ปทุมธานี) 6. รำตร๊ด (สุรินทร์/ศรีสะเกษ) 7. ลำแมงตับเต่าไทเลย (เลย) 8. ประเพณีอัฏมีบูชา (นครปฐม/อุตรดิตถ์) 9. โจลมะม้วต (สุรินทร์) 10. ประเพณีแห่นางดาน (นครศรีธรรมราช) 11. ทุเรียนนนท์ (นนทบุรี) 12. ปลาสลิดบางบ่อ (สมุทรปราการ) 13. หม้อน้ำดินเผาเกาะเกร็ด (นนทบุรี) 14. งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร (เพชรบุรี) 15. เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน(นครราชสีมา) 16. ซิ่นหมี่คั่นน้อย ไทหล่ม (เพชรบูรณ์) 17. อิ้นกอนฟ้อนแคน (นครปฐม) 18. การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย (จันทบุรี
จากการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับ คือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องและคุ้มครอง รวมถึงส่งเสริมภูมิปัญญาที่มีผล ในการปฏิบัติและการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาและสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้สืบทอดและคงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้มีการสืบทอดไปยังชนรุ่นหลังนำไปใชประโยชน์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่น สร้างรายได้และมีผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป
นางสาวชนิดา พรหมผลิน
ผู้สื่อข่าวนิวรีพอร์ต รายงาน