วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

กาญจนบุรี!!แถลงข่าวงานเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่”

กาญจนบุรี แถลงข่าวงานเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ “โรงงานกระดาษกาญจนบุรี ”ภายใต้ชื่องาน “ปู่กลับมาแล้วจ้า” เป็นความภูมิใจที่สถานที่แห่งนี้ในอดีตเป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทย ที่เรียกกันว่าโรงงานกระดาษทหารกาญจนบุรี โดยท่านพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดโรงงานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2481

วันนี้ (28 ต.ค.2562) เวลา 18 . 30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณโรงงานกระดาษเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้แถลงข่าวงานเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ “โรงงานกระดาษกาญจนบุรี ”ภายใต้ชื่องาน “ปู่กลับมาแล้วจ้า” และนายภานุวัฒน์ ศีลแดนจันทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี ภาคเอกชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

จังหวัดกาญจนบุรี โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาญจนบุรี และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดงานแถลงข่าวการจัดงานเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ” ภายใต้แนวคิด “ปู่กลับมาแล้วจ้า” เทศกาลความสุขต้อนรับการกลับมาของพื้นที่ความทรงจำและหัวใจเมืองโรงงานกระดาษกาญจนบุรี (2481-2562) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2562 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณโรงงานกระดาษเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นหลังและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงบูรณาการให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ส่งเสริมให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นที่รู้จักและประชาสัมพันธ์ด้านความพร้อมในการต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่งชาวไทยและชาวต่างชาติ

สำหรับกิจกรรมภายในงานจะจัดในรูปแบบบรรยากาศย้อนยุคสมัยคุณปู่ คุณย่า มาให้รำลึกกันอีกครั้ง การแสดงนิทรรศการเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโรงงานกระดาษ การคัดสรรสินค้าและอาหาร มาจำหน่าย ชมดนตรีในบรรยากาศสนามหญ้าหน้าอาคารผลิตกระดาษยุคสงครามโลก และพิเศษในคืนวันเสาร์ ที่ 2 พฤศจิกายน 2562 เวลา 19.00 น. ชมมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินแห่งชาติ ชรินทร์ นันทนาคร และ ศิลปินคู่ขวัญรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวเชิญชวนชาวจังหวัดกาญจนบุรี และนักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยวชมงานฯ ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลองกับการนำโรงงานกระดาษไทยกลับมาเป็นของประชาชน และหลังจากนี้จะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมรอบบริเวณโรงงานกระดาษไทยเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์อีกด้วย

วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2481 ได้มีพิธีเปิดโรงงานกระดาษทหารอย่างเป็นทางการ โดยท่านพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี มาเป็นคนเปิดงาน แต่จากความเป็นจริงโรงงานกระดาษได้เปิดทำการและเดินเครื่องอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2478 มาแล้ว โรงงานกระดาษไทย จึงเป็นโรงงานผลิตกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น โดยให้โรงงานกระดาษทหารไทยเป็นโรงงานผลิตกระดาษเพื่อพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทย โรงงานกระดาษทหารกาญจนบุรี ได้ทำการผลิตกระดาษกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้ไผ่มาตลอด ในเวลาต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อโรงงานกระดาษไทยเฉยๆ

จากการที่โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ต้องผลิตกระดาษออกมาเป็นจำนวนมากการทำงานของพนักงาน และเครื่องจักร จึงต้องทำงานและเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง พนักงานจึงต้องทุกแบ่งให้ทำงานเป็นช่วงๆที่เราเรียกว่า “ทำงานเป็นกะ” การเข้าทำงานของพนักงานโรงงานว่าตัวเองจะเข้ากะเมื่อไร ทางโรงงงานกระดาษ ก็จะมีสัญญาณเตือนให้พนักงานรู้อยู่เสมอ ด้วยการเปิดสัญญาณที่เราเรียกกันว่า “หวูดโรงงาน” เสียงหวูดนี้จะดังได้ยินไปไกลมากทั้งตลาดบ้านเหนือและบ้านใต้เลยทีเดียว และการเปิดหวูดนี้ก็เพื่อเป็นการเตือนให้พนักงานเตรียมพร้อมที่จะไปทำหน้าที่ของตนเองได้แล้ว

นอกจากเสียงหวูดโรงงานที่เป็นสัญลักษณ์ของโรงงานกระดาษแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คู่กันคือกลิ่นจากการฟอกเยื่อไม้ไผ่ที่ทางโรงงานต้องปล่อยกลิ่นทิ้งออกมา เวลาที่โรงงานปล่อยกลิ่นนี้ออกมา ชาวบ้านก็จะพูดจนติดปากว่า “โรงงานปล่อยตด”ออกมาอีกแล้ว ซึ่งก็แล้วแต่ว่าลมจะพัดไปทางไหน ถ้าพัดไปทางบ้านเหนือ คนบ้านเหนือก็จะสูดดมกลิ่นนี้ไป ถ้าลมพัดไปทางบ้านใต้ คนบ้านใต้ก็รับไปเช่นเดียวกัน

ย้อนกลับมาในบริเวณโรงงานกันบ้าง ที่โรงงานกระดาษสมัยก่อนนั้นจะมีขบวนรถไฟวิ่งเข้าไปถึงโรงงานได้เลยโดยมีทางแยกจากสถานีรถไฟปากแพรก วิ่งผ่านตัวเมืองเข้าสู่โรงงานโดยตรงเลย ขบวนรถไฟที่วิ่งเข้าไปในโรงงานแห่งนี้จะทำหน้าที่ 2 อย่างคือ นำฟืนที่ตัดมาจากไทรโยค เข้ามาโรงงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งบางครั้งฟืนที่นำมามีมากเกินไป ฟืนเหล่านี้ก็จะถูกนำไปกองที่สนามบิน(ปัจจุบันสนามบินแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นตลาดผาสุกไปแล้ว) และอีกประการหนึ่งคือทำหน้าที่ขนกระดาษที่ผลิตสำเร็จแล้วส่งเข้ากรุงเทพอีกทางหนึ่ง.

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading