กาญจนบุรี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ตำบลไล่โว่ ร่วมกันทำบุญในงานประเพณีบุญข้าวใหม่ ซึ่งเป็นงานบุญสำคัญภายหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่ข้าว เพื่อตอบแทนบุญคุณพระแม่โพสพ ซึ่งคนกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าเป็นเทพี ที่ดูแลปกปักรักษาไร่ข้าวและประทานพืชพันธุ์ธัญญาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์
วันนี้ 16 ม.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดจะแก หมู่ที่ 6 ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นายสมชาย วุฒิพิมลวิทยา นายก อ.บ.ต.ไล่โว่ นำประชาชน จากหมู่บ้านต่างๆ และผู้ที่มาร่วมงานประเพณีบุญข้าวใหม่ ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ในตำบลไล่โว่ โดยพิธีเริ่มด้วยการร่วมกันทำบุญตักบาตร ข้าวสุก ซึ่งเป็นข้าวใหม่ที่ได้จากการทำไร่ของประชาชนในปีนี้ ถวายแด่พระสงฆ์ เพื่อเป็นการส่งผลบุญให้แก่พระแม่โพสพ พระแม่ธรณี และเทวดา ทั้งหลายที่ช่วยปกปักรักษา ไร่ข้าว และดลบันดาลให้การทำไร่ข้าว ได้ผลผลิตที่ดีในปีที่ผ่านมา ตามวิถีความเชื่อของกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ งานพิธีจะจัดขึ้น 3 วัน 3 คืน โดยเริ่มตั้งแต่คืนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ ไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่..
ภายหลังจากเสร็จพิธีทำบุญตักบาตรและรับศีลรับพร จากพระภิกษุสงฆ์บนวัดแล้ว ผู้มาร่วมงานทั้งหมดจึงได้มารวมตัวกับบริเวณลานพิธี ซึ่งอยู่ในบริเวณวัด โดยในลานพิธีงานบุญข้าวใหม่ ได้มีการจัดสร้างสถานที่ขึ้นมาด้วยไม้ไผ่ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีบวงสรวงพระแม่โพสพและการผูกข้อมือในงานบุญข้าวใหม่ โดยลานพิธีที่สร้างขึ้นมาเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัต มีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งด้วยดอกหงอนไก่และดอกดาวเรืองที่นำมาจากไร่ข้าว พร้อมตุง ธง หลากสีสัน อย่างสวยงาม
ทั้งนี้มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าประตูทั้ง 4 ทิศ เปรียบเสมือนหลักธรรม มรรค 4 ผล 4 ของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นหลักธรรม ที่สำคัญในการดำเนินชีวิต จึงได้นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาสอดแทรกในการจัดงานอีกทั้งเป็นการช่วยให้พิธีกรรมในงานบุญข้าวใหม่ มีความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
ในลานพิธีทรงสี่เหลี่ยมจตุรัต ที่สร้างขึ้นมีความสูงจากพื้น 2 ชั้น ชั้นแรกสูงจากพื้นประมาณ 2 ศอก. ใช้เป็นที่ประกอบพิธีของหมอพิธี ส่วนชั้นที่2ซึ่งเป็นชั้นบนสุด มีความสูงจากชั้นที่ 1 ประมาณ 2ศอก ลักษณะทรงสี่เหลี่ยมจตุรัต โดยมีความกว้าง ยาว ประมาณ 3 ศอก เพื่อใช้เป็นที่จัดวางเมล็ดพันธุ์ข้าว และพืชผักต่างๆที่ได้มาจากไร่ข้าว อาทิเช่น ฟักทอง แตง พริก ถั่ว มัน เผือก และข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนั้นยังวางเครื่องมือที่ใช้ในการทำไร่ เช่น มีด จอบ ขวาน เสียม และเคียวเกี่ยวข้าว โดยด้านบนสุดจะแขวนรวงข้าวและดอกหงอกไก่ ที่ได้มาจากข้าว 7กอแรกที่ปลูก และเกี่ยวจากไร่ข้าว นำมาแขวนไว้ โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทั้งหมด ชาวบ้านที่มาร่วมงานก็จะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วพืชผักต่างๆในพิธีบุญข้าวใหม่ กลับบ้าน เพื่อเก็บไว้เพาะปลูกในฤดูการเพาะปลูกที่จะมาถึง เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นขวัญ กำลังใจ ในการทำไร่ต่อไป
นอกจากในบนลานพิธียังมีการนำผ้าถุงและเสื้อ กะเหรี่ยงที่ทอใหม่ พร้อมมวยผม หวี กระจก ต่างหู กำไลข้อมือ พร้อมเครื่องบูชาที่ประกอบด้วยกล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ใส่ถาดมาไว้กลางลานพิธี เพื่อถวายให้แก่แม่โพสพ เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณอีกด้วย เมื่อถึงเวลาจึงได้มีการเชิญ เจ้าพิธี(ผู้เฒ่าผู้แก่) ที่เป็นคู่สามีภรรยาจำนวน4คู่ โดยทั้งหมดเป็นปราชญ์ชุมชน ที่ได้การเคารพนับถือ และได้รับการยอมรับของ คนในตำบล ว่าเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดี เนื่องจากดำรงตนอยู่ในศีลธรรม เป็นคู่สามี ภรรยา ที่เป็นผัวเดียว เมียเดียว โดยทั้งหมดจะเป็นผู้ทำการอธิฐานจิต อัญเชิญพระแม่โพสพ มาสถิตในลานพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ที่มาร่วมงาน โดยการอัญเชิญเป็นภาษากะเหรี่ยง ต่อจากนั้น เจ้าพิธี ทั้ง 4 คู่ จะทำการผูกข้อมือเรียกขวัญให้กันละกัน ก่อนจะทำการผูกข้อมือให้คนที่มาร่วมงาน เป็นลำดับต่อไป
การผูกข้อมือของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงนั้นสืบเนื่องมาจากคนกะเหรี่ยงเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีขวัญของตนเองที่คอยทำหน้าที่ดูแล รักษาเรา บางครั้งการเข้าป่าทำไร่ หรือการเดินทางไปไหนมาไหน อาจมีการตกใจทำให้ขวัญหายไปจากเราได้ ดังนั้นจึงต้องทำการผูกข้อมือเพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนมาอยู่กับเรา
ซึ่งในการผูกข้อมือเรียกขวัญแต่ละครั้งต้องใช้สิ่งของเป็นเครื่องประกอบพิธีทั้งหมด7อย่างอาทิ ข้าวสุก ข้าวเหนียวปั้น ข้าวเหนียวปลายแหลม ทองโยะน้ำ อ้อย กล้วย ดอกไม้และด้าย ซึ่งระหว่างการผูกข้อมือ ก็จะมีการขับร้องบทเพลงที่มีเนื้อหาของเพลงพูดถึงบุญคุณของแม่โพสพ จากครูเพลงจากหมู่บ้านต่างๆที่ผลัดเปลี่ยนกันมาร้องเพลง เพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศให้งานมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น ประเพณีบุญข้าวใหม่ในอดีตนั้นจะสามารถพบเห็นทั่วไป ในพื้นที่ อ.สังขละบุรี แต่ในปัจจุบันนี้ เริ่มหายไป เนื่องจากความเจริญที่ลุกคลานเข้ามา พร้อมกับกฎระเบียบของทางราชการที่ประกาศใช้ในการดูแลป่า ทำให้วิถีไร่หมุนเวียนซึ่งวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ที่เป็นคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี ในบางพื้นที่ไม่อาจทำไร่ได้อีก จึงส่งผลให้เมื่อไม่มีการทำไร่ข้าว ประเพณีบุญข้าวใหม่จึงค่อยๆหายไป
ปัจจุบันประเพณีบุญข้าวใหม่จึงพบเห็นได้เพียงในพื้นที่ ต.ไล่โว่เท่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชน หนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยงควร มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและร่วมกันอนุรักษ์ ความถือและประเพณี ที่ดีงามและทรงคุณค่า ให้อยู่คู่ชุมชนสืบต่อไปตราบนานเท่านาน.
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี