จันทบุรี-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี ทั้งนี้หวังแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องภัยแล้งให้หมดไปโดยด่วนและยั่งยืน
วันนี้ (26 มกราคม 2563) ที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี ต.วังแซ้ม อ.มะขาม จ.จันทบุรี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำและการผลิตผลไม้จังหวัดจันทบุรี ปีฤดูการผลิต 2563 รวมถึงรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้เพื่อจะได้ร่วมผลักดันการแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้สามารถบรรลุความสำเร็จ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรได้โดยเร็วและยั่งยืน ขณะเดียวกันนี้ประชาชนในทุกอำเภอของจังหวัดจันทบุรี กว่า 200 คน ได้ขอเข้าพบและยื่นข้อร้องเรียนให้เข้าช่วยเหลือการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรด้วย ซึ่งภายหลังพบปะเกษตรกรชาวสวนแล้วได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ผลไม้เหล่านี้สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้จำนวนไม่น้อย สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ พืชผลเหล่านี้ต้องใช้น้ำจำนวนมาก แม้ในพื้นที่จะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจำนวนมาก แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นที่ลาดเอียง ฝนตกลงมาก็ไหลลงทะเลไปหมด ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างเพียงพอ ซึ่งที่ชาวสวนจังหวัดจันทบุรี ได้ร้องขอให้ช่วยเหลือขจัดปัญหาภัยแล้ง แบ่งออกเป็น 4 ข้อหลัก ๆ คือ 1) ขุดลอกเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำในเขื่อนที่มีอยู่ เช่น อ่างเก็บน้ำศาลทรายจะทำให้เกิดประดยนช์ต่อประชาชนในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว คิชฌกูฏ และ ท่าใหม่ 2) เพิ่มพื้นที่อ่างเก็บน้ำในพื้นที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์จันทบุรี ต.วังแซ้ม อ.มะขาม จ.จันทบุรี 3) จัดการซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำดิบ ระยะทาง 13 กิโลเมตรจากตำบลแสลง อ.เมือง ไปยังพื้นที่อำเภอมะขาม
ซึ่งเดิมเป็นท่อน้ำดิบที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำและส่งมอบให้ อบต. แต่เนื่องจาก อบต.ขาดงบประมาณในการซ่อมแซม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแนะนำให้จังหวัดจันทบุรี ทำหนังสือไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อขอใช้เงินกองทุนพลังงานมาปรับปรุงซ่อมแซม สวนจัดทำกันเองใช้วัสดุคุณภาพต่ำ ไม่คงทน ให้เป็นวัสดุที่มีความคงทนอันจะทำให้น้ำทุกหยด ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าได้ 4) แก้ปัญหาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองขลุง ที่ติดขัดเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดจันทบุรีได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว รอเพียงขั้นตอนที่กรมอุทยานแห่งชาติประกาศเพิกถอนพื้นที่ป่าการก่อสร้างก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากขณะรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างไว้ให้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน หากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะยังประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรในอำเภอขลุง รวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคของประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน ตำบลบางชัน อำเภอขลุงอีกด้วย
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก