นวัตกรรมเพื่อชุมชน มทร.ธัญบุรี
นักศึกษารายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน มทร.ธัญบุรี แสดงผลงานคืนชุมชน ประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรม ณ ชุมชนบ้านบึงสมบูรณ์ หมู่ที่ 2 ต.บึงกาฬสาม จ.ปทุมธานี
นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า นวัตกรรมเพื่อชุมชนตอบโจทย์ชุมชน เกิดองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขยายรายวิชาและรับนักศึกษาเพิ่มในการเข้ามาเรียนวิชาดังกล่าว ชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง โดยใช้กระบวนการ “ความคิดเชิงนวัตกรรม” คือ นักศึกษาต้อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปสู่นวัตกรรม ตามความต้องการของชุมชน ด้วยการลงมือทำ และต้องชื่นชมทางด้านคณาจารย์ทีมทำงานจิตอาสา ช่วยด้วยความเต็มใจในการลงชุมชนกับนักศึกษา นอกจากนวัตกรรมเพื่อชุมชน แนวคิดกระบวนการคิดของนักศึกษาเปลี่ยนไป ได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ ปลายทางได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม
นายทองสุข สีลิด กำนันตำบลบึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานีเล่าว่า การเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยน เป็นการเติมเต็มให้กับชุมชน องค์ความรู้สามารถนำไปต่อยอดได้ เช่น เปลือกไข่ เป็นของเหลือใช้ในชุมชน นักศึกษานำมาผลิตปุ๋ย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเรียนรู้ได้ ถ้าชาวบ้านไปเรียนรู้ หรือค้นคว้าเอง เป็นเรื่องที่ยาก ถ้ามีคนมาให้ความรู้ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ นำไปต่อยอดจะสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนในวันนี้ อยากให้ชาวบ้านเรียนรู้ องค์ความรู้ที่ได้ นำไปสู่การผลิตแบบผู้ประกอบการ ต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ที่สร้าง จะเกิดประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับนำไปต่อยอดของคนในชุมชน
นายภควัต มาสูงเนิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า นวัตกรรมของกลุ่มผมคือ “เก้าอี้จากฟ่างข้าว” นำวัสดุในชุมชนมาสร้างมูลค่า ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน “นอกจากเกรดที่ผมคาดหวังแล้ว วิชานี้ทำให้ผมเปลี่ยนความคิด จากที่เคยเที่ยวเคยดื่มกับเพื่อน ผมเลิกที่จะปฏิบัติแบบนั้น ได้เจอชาวบ้าน คนแก่ คนที่ลำบาก อยากจะช่วยเหลือ ซึ่งทำให้เรามองเห็นอะไรที่กว้างขึ้น ไม่ยึดติดกับตัวเอง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตัวเอง การทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือ ตลอดจนการอาสาที่จะทำในสิ่งที่เพื่อนไม่สามารถทำได้” เมื่อก่อนไม่เคยร่วมกิจกรรมในชุมชน ทั้งที่ตาเป็นประธานชุมชน แต่ทุกวันนี้ตาช่วยไปทำกิจกรรมผมจะไป ไม่ว่าจะไปเวียนเทียน หรือช่วยเก็บขยะในชุมชน
นางสาวชนาภา ใต้ตอนไผ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า ชุมชนบ้านบึงสมบูรณ์ มีการทำข้าวจำหน่าย ในกลุ่มได้ลงความเห็นออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยให้กับทางชุมชน เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับข้าว ยกระดับ OTOP สู่การพัฒนาข้าว เรียนวิชานี้ทำให้กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิด ความเป็นผู้นำ นอกจากนั่นยังได้เห็นถึงความแตกต่างของคนในชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดีใจที่ได้เรียนวิชานี้ และได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน
นางสาวจิราภรณ์ โฉมฉิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า เปลือกไข่เป็นขยะ จึงนำเปลือกไข่ที่มีแคลเซียมสูง มาทำปุ๋ยไล่ศัตรูพืชและเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งจากการทดลอง ใส่ปุ๋ย และไม่ใส่ปุ๋ย แบบใส่ปุ๋ย ไม่มีศัตรูพืช ขนาดของต้นมีความสูงต่างกันโดยใส่ปุ๋ยมีความยาวมากกว่าประมาณ ครึ่งเซนติเมตร ต่อยอดให้ชาวบ้านทำขาย โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ เรียกความสนใจของผู้ซื้อ ออกแบบโลโก้ ใส่ไอเดีย วิชานี้ได้บูรณาการวิชาเรียนหลายวิชาเข้าด้วยกัน และช่วยเหลือชุมชนอีกด้วย
เช่นเดียวกับ นางสาวปัณฑิตา สมตั้ง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนมีเปลือกไข่เหลือทิ้งจากร้านอาหารตามสั่ง นำเปลือกไข่มาทำน้ำยาสุขภัณฑ์เติมกลิ่นส้ม นำเปลือกไข่ไปบด (ใช้วิธีการตำ) ใส่กลีเซอรีน แต่งกลิ่นส้ม เปลือกไข่ที่ตำละเอียดจะช่วยขจัดคราบได้ดี ชาวบ้านสามารถทำใช้ในบ้าน หรือจำหน่ายในชุมชน ซึ่งอายุในการเก็บรักษา 1 อาทิตย์ การเรียนวิชานี้ทำให้เรียนรู้ปัญหาจริง ลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ ฝึกการทำงานเป็นทีม
00ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994