วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

นครปฐม เกษตรจังหวัดนครปฐม เตือนเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงนำ้เค็มรุก

เกษตรจังหวัดนครปฐม เตือนเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงน้ำเค็มรุก
ให้ใช้น้ำด้วยความระมัดระวัง

จากการเฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลผลการตรวจวัดค่าความเค็มจากจุดตรวจวัดแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ปรากฏว่า ค่าความเค็มของน้ำที่บริเวณหน้าวัดมะเกลือ คลองทวีวัฒนา ซึ่งเป็นคลองสาขาเชื่อมต่อกันมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณปากคลองจินดา ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน ได้เพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุน โดยเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ วัดค่าความเค็มได้ ๐.๕๒ กรัมต่อลิตร และ ๐.๖๑ กรัมต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังในการนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรกับพืชสวนบางชนิด เช่น กล้วยไม้ เป็นต้น
นายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว แม้ว่ากรมชลประทานจะได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนแม่กลอง ผ่านคลองท่าสาร-บางปลา และระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา เพื่อผลักดันความเค็มในบริเวณดังกล่าว ไม่ให้ความเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่การเกษตร แต่ในขณะนี้ สถานการณ์ระดับน้ำตอนบนของพื้นที่อำเภอบางเลน อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำตอนล่าง จึงมีโอกาสที่น้ำตอนล่างจะไหลไปสู่พื้นที่ตอนบน และนำพาความเค็มไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตพื้นที่ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล และตำบลนราภิรมย์ อำเภอบางเลน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๙ จึงขอเตือน
เกษตรกร ให้ระมัดระวังในการสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีน และคลองสาขาทั้งที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แถบอำเภอพุทธมณฑล และแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง แถบอำเภอสามพราน มาใช้เพื่อการเกษตร ดังนี้
1. ให้ติดตามผลการวัดค่าความเค็มของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในพื้นที่ หรือวัดค่าความเค็มของน้ำด้วยตัวเองก่อนนำไปใช้ในสวนและไร่นา โดยเฉพาะอย่างผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้และไม้ดอกบางชนิด ควรวัดค่าความเค็มของน้ำก่อนนำไปใช้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นพืชที่ไม่ทนต่อความเค็ม (ค่าความเค็มของน้ำไม่ควรเกิน 0.75 กรัมต่อลิตร)
2. หากพบว่าน้ำเค็มใกล้เกินค่ามาตรฐานให้รีบปิดคลองน้ำเข้าสวน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าพื้นที่และไม่ให้พืชได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม
3. ให้ลดปริมาณและจำนวนครั้งการให้น้ำพืช เพื่อให้มีน้ำจืดใช้เพียงพอ และผ่านพ้นวิกฤติช่วงฤดูแล้งไปได้
4. กรณี สวนไม้ผลให้ใช้วัสดุคลุมดิน วัสดุพลางแสงเพื่อป้องกันแสงแดด ลดอุณหภูมิ เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากดิน และลดการคายน้ำของพืช โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิต ตัดแต่งช่อดอกและผลอ่อนทิ้งตามความเหมาะสม
5. หากน้ำที่กักเก็บไว้ใช้ไม่เพียงพอ และน้ำในแม่น้ำมีความเค็มไม่มากนัก และจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้ศึกษาข้อมูลการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อหาจังหวะการสูบน้ำเข้าบ่อ/ร่องสวน โดยต้องวัดค่าความเค็มของน้ำในระดับการสูบ และจัดหา น้ำจืดมาผสมให้เจือจางก่อน จึงนำไปรดต้นพืชได้ (แต่หากใช้บ่อยครั้งจะทำให้เกิดเกลือสะสมในดินได้)
6. กรณี ต้องการรถบรรทุกน้ำเพื่อจัดหาน้ำจืด ให้ประสานงานเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองในพื้นที่ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมาย หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล หรือเกษตรอำเภอ เพื่อประสานงานให้การช่วยเหลือโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม ได้กำชับเกษตรอำเภอในพื้นที่ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยแล้ว หากเกษตรกรท่านใด…ได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีที่ ..สำนักงานเกษตรอำเภอพื้นที่ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม โทร. ๐ ๓๔๒๕ ๙๖๑๒

Loading