วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

องค์กรเด็กและเยาวชนศรีสะเกษ”ปรับแผนเดินหน้าใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์

องค์กรเด็กและเยาวชนศรีสะเกษ ปรับแผนเดินหน้าใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์ ปิดเทอมไม่หยุดนิ่งช่วยเหลืองานสังคม ด้วยพลังสามัคคี

เมื่อเร็วๆนี้ นายพงศ์ภัค มงคลชัยพาณิชย์ ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีคําสั่งเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันวิกฤตการณ์ จากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มาอย่างต่อเนื่องนั้น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ยังคงพบว่ามีการกระจายเชื้ออย่างต่อเนื่องอยู่ในประเทศไทย และในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ก็พบว่ามีทั้งผู้ที่ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงที่เฝ้าดูอาการ ประชาชนยังมีความเสี่ยงและโอกาสที่จะได้รับเชื้อไวรัสนี้ได้เสมอ ทางจังหวัดจึงได้มีประกาศปิดสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการงดกิจกรรมร่วมกัน เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กหลายๆคนรอคอย ในที่จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน โดยปีนี้ หน่วยจัดการด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการวางแผนการจัดกิจกรรมไว้หลากหลายรูปแบบที่จะให้เด็กๆ ได้มาร่วมสนุกไม่ว่าจะเป็น ร้อง เล่น เต้น วาด ขีดเขียน เรียนรู้ ค้นคว้า และสร้างเสริมประสบการณ์ในช่วงปิดภาคเรียนภายใต้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทำให้ต้องพักกิจกรรมเหล่านี้ลงสักระยะ
แต่ทั้งนี้ “การพัฒนา การจัดกิจกรรม การเป็นจิตอาสา ไม่สามารถฉุดรั้ง” ได้ จึงมีการปรับแผนการดำเนินกิจกรรมเป็นการบูรณาการปรับแผนเป็นจิตอาสาของน้องๆ เยาวชน เครือข่ายต่างๆ ที่อยู่บ้านได้อาสาในการทำ Face shield กว่า 1,000 ชิ้น ส่งมอบให้กับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อที่จะได้นำส่งต่อ ไปมอบให้กับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ และได้มอบให้กับภาคส่วนอื่นๆ อีกกว่า 800 ชิ้น เป็นการร่วมแรงร่วมใจของน้องๆ ซึ่งแม้จะอยู่ที่บ้าน ก็สามารถช่วยเหลือสังคมส่วนรวมได้ ด้วยจิตสาธารณะ (Public Mind) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพได้ และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดกิจกรรมในรูปแบบการเรียนรู้ทางออนไลน์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การผลิตสื่อรณรงค์เพื่อการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นสาเหตุที่จะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่

นายพงศ์ภัค กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงปิดเทอมปีนี้คงไม่ใช่สิ่งที่เด็กหลายๆ คนนั้นใฝ่ฝัน หรือต้องการ และไม่อยากที่จะให้เกิดขึ้นมา แต่เมื่อทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่รอบตัว อยู่กับตัวเองมากขึ้น แล้วจะทำให้เราได้มีเวลาในการนึกย้อนทบทวนตัวเองมากขึ้น ในสถานการณ์นี้เราได้ใช้สื่อเทคโนโลยีที่มีอยู่กับตัวมากขึ้น จนเรานึกไม่ถึงว่าสิ่งเหล่านี้มันสามารถทำได้ขนาดนี้แล้วหรือ เหมือนเป็นการยกระดับการทำงานขึ้นมาอีกก้าว การปรับแผนการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ทำอย่างไรให้เยาวชนได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ และฝึกฝนตัวเองในยุคที่ต้อง เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) มันเป็นสิ่งหนึ่งที่คอยย้ำเสมอว่า “การพัฒนาไม่มีวันหยุดนิ่ง เราต้องคิด ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ มองในสิ่งที่ใกล้ตัว แล้วเดินต่อไปข้างหน้า”

ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ

Loading