ชาวประมง จ.กระบี่ เฮ “มาตรการปิดอ่าวอันดามัน” ปี 63 เริ่มเห็นผล 2 เดือน พบฝูงลูก “ปลาทู” สัตว์น้ำเศรษฐกิจเริมโต โผล่หากินอ่าวบ่อม่วง ชุกชุมเป็นกลุ่มก้อน
วันที่ 4 มิ.ย.2563 นายสมบูรณ์ ธัญญาผล ประมงจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยนายสิทธิพล เมืองสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต3(กระบี่) นายสุชาติ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามันตอนบน(ภูเก็ต) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และเครือข่ายประมงพื้นบ้านได้นำเรือตรวจการณ์ประมง และเรือประมง ออกสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณอ่าวบ่อม่วง ม.4 ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ หลังได้รับแจ้งจากชาวประมงในพื้นที่ว่า พบฝูงลูกปลาทูจำนวนมากโผล่หากินชุกชุม
โดยเจ้าหน้าที่ได้นั่งเรือออกสำรวจ ระยะห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร ได้พบฝูงลูกปลาทูโผล่หากินบริเวณผิวน้ำเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก สร้างความตื่นเต้นดีใจแก่เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายประมงพื้นบ้านบ้านบ่อม่วงที่ร่วมสำรวจกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการทอดแห เพื่อจับขึ้นมาตรวจพิสูจน์ว่าฝูงลูกปลาที่กำลังโผล่หากินอยู่บนผิวน้ำเป็นปลาชนิดใด เบื้องต้นพบว่าเป็นฝูงลูกปลาทูลัง ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่คาดว่าอีกประมาณ 1-2 เดือน ฝูงลูกปลาทูลังดังกล่าวก็จะตัวโตเต็มวัย
นายสมบูรณ์ ธัญญาผล ประมงจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า สำหรับฝูงลูกปลาทูลังที่พบชุกชุมบริเวณอ่าวบ้านบ่อม่วง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของกรมประมง ปิดอ่าว ในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ซึ่งผลจากการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ในปี 2563 เริ่มเห็นผลของการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างชัดเจน เนื่องจากหลังการประกาศปิดอ่าวอันดามัน เพียง 2 เดือน พบฝูงลูกปลาทูจำนวนมากในบริเวณอ่าวบ้านบ่อม่วง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลฝั่งอันดามันและทะเลกระบี่ได้เป็นอย่างดี และมีแนวโน้มทะเลอันดามันมีความสมบูรณ์ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายสิทธิพล เมืองสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต3(กระบี่) กล่าวด้วยว่า ในช่วงฤดูกาลปิดอ่าวทะเลอันดามัน 4 จังหวัด รวมเนื้อที่ ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย พื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. -30 มิ.ย. ของทุกปี โดยทางศูนย์ฯมีการจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น
และได้มีการจับกุมเรือปลากะตักลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย 1 ลำ ในห้วงของการปิดอ่าวเหตุเกิดในจังหวัดพังงา ส่วนในจังหวัดกระบี่ ยังไม่พบการทำประมงผิดกฎหมาย เนื่องจากชาวประมงให้ความสำคัญและร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ทางกรมประมง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีการควบคุมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข็มงวด เพื่อไม่ให้มีการจับทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ก่อนวัยอันควร
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และขอความร่วมมือให้พี่น้องชาวประมงได้ช่วยกันอนุรักษ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน
ด้านนายสุชาติ แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอันดามันตอนบน(ภูเก็ต) 1 ในทีมร่วมสำรวจ กล่าวว่า สำหรับลูกปลาทูที่เจอในวันนี้ อีก ประมาณ 1เดือนก็จะโตเต็มวัย ประมาณ 20-25 ตัว/กิโลกรัม และจากการสอบถามชาวประมงพบว่าในปีนี้ มีลูกปลาทูชุกชุมเป็นกลุ่มก้อน กว่าปีที่ผ่านมา กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วมหาศาลมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสภาพอากาศ การอนุรักษ์ และการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวของกรมประมงที่ยาวนานต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี
ด้านนางรุ้ง วันเพ็ญ อ 40 ปี ชาวประมงพื้นบ้านบ่อม่วง กล่าวว่า ในปีนี้พบว่ามีปลาทู โผล่ชุกชุมเยอะมากกว่าทุกปี พบว่าบางช่วงเข้ามาหากินถึงท่าเรือชายฝั่ง นอกจากนี้ยังพบปลาชนิดอื่นรวมถึงปลาหายาก อย่างปลาโลมา โผล่ให้เห็นเยอะมาก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการใช้ตรการปิดอ่าว และการประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ และการสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์ จึงทำให้สัตว์น้ำทะเล มีชุกชุม ไม่ต้องออกไปจับไกลๆ ซึ่งรายได้จากการทำประมงในตอนนี้รายได้ดีบางคนได้ถึง 2-3พันบาทต่อวัน
กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง. รายงาน