วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

มทร.ธัญบุรี”ออกแบบประตูตรวจวัด”อุณภูมิงบเพียง 30,000

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เปิดตัว ประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ ผลงานของดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ นางสาวสิริวดี กิจจา นายชัยศิริ โพธิ์คำ และ นายชาณุวัฒน์ สัตยาคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ คัดกรองบุคคลหรือผู้ป่วยที่มีไข้สูง ทดแทนบุคลากรประจำจุดคัดกรอง ลดความเสี่ยงให้บุคลากร ซึ่งสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เผยว่า จากนโยบายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาและลดผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 มอบหมายนักศึกษาได้สร้างนวัตกรรมและงานวิจัยที่สอดคล้องกับกรอบวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้นวัตกรรมนี้เป็นโครงงานโปรเจคของตนเอง เพื่อจบการศึกษาและใช้ตอบโจทย์นวัตกรรมที่สามารถนำมาแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 “ประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ” ออกแบบและติดตั้ง เพื่อเฝ้าระวังและคัดกรองบุคคลหรือผู้ป่วยที่มีไข้สูง ทดแทนบุคลากรประจำจุดคัดกรอง ลดความเสี่ยงให้บุคลากร ซึ่งสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยใช้หลักการทำงาน ประตูเปิด-ปิด แบบสวิงเกต เหมือนรถไฟฟ้าที่ใช้กันเป็นประจำ โดยมีเซนเซอร์ 2 ตัว คือ เซนเซอร์อุณหภูมิ และเซนเซอร์ระยะห่างของบุคคล ติดตั้งเพิ่มขึ้นมา ตัวเซนเซอร์อุณหภูมิสามารถสแกนอุณหภูมิร่างกายของผู้ใช้ในช่วง 30 – 50 องศาเซลเซียส โดยผู้ใช้นำใบหน้าเข้ามาใกล้เซนเซอร์ช่วงประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อความแม่นยำในการวัดอุณหภูมิ มีสัญญาณสีที่ประตูและสัญญาณเสียงบอกอุณหภูมิตรวจ เมื่อไม่มีบุคลากรประจำจุดคัดกรอง แน่นอนว่าอาจจะมีคนลักลอบอบเข้าไปโดยที่สแกนไม่ผ่าน พยายามลักลอบเข้าไปได้ ดังนั้นจึงออกแบบประตู ทำเป็นสีไฟ และมีการควบคุมผ่านกล้องวงจรปิด คอยสอดส่องที่จุดคัดกรอง สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการใช้นวัตกรรมมาเสริมสร้าง บัณฑิตนักปฏิบัติ ของบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ ทำการออกแบบ คิดค้นด้วยตนเอง ทำเองทั้งหมด
นางสาวสิริวดี กิจจา เพิ่มเติมว่า ประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ เป็นการตรวจแบบไร้สาย โดยหลักการทำงานของอินฟาเรด เทอร์โมมิเตอร์เป็นตัววัดอุณหภูมิ และอัลตร้าโซนิควัดระยะด้วยคลื่นเสียง ส่งสัญญาณยังเซนเซอร์ ประตูทำการแจ้งอุณหภูมิ ไฟแสดงสถานะมี 3 สี ไฟสแตนบายเป็นสีน้ำเงิน ไฟสแตนอุณหภูมิผ่านเป็นสีเขียว และสแตนบายอุณหภูมิไม่ผ่านเป็นสีแดง ขณะทำงานเมื่อเครื่องมีปัญหาระบบรีเซตตัวเองโดยอัตโนมัติภายใน 8 วินาที เบื้องต้น ผู้ใช้อาจไม่คุ้นเคยกับการใช้ประตูแบบนี้ ซึ่งถ้าใช้งานระยะหนึ่ง ผู้ใช้จะรู้ว่าต้องทำงานและวางท่าทางตังเองอย่างไรถึงจะผ่านประตูนี้เข้าไปได้

 

ประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ เป็น 1 ใน 5 โครงการ โดยภายในโครงการยังมีอีก 4 ผลงาน ประกอบด้วย การผลิตหน้ากากแบบเปลี่ยนไส้กรองจากพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ นวัตกรรมหน้ากากผ้าป้องกันไวรัส โควิด-19 โดยแสดงผลผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิสูงด้วยการเปลี่ยนสีของสารเทอร์โมโครมิก หุ่นยนต์ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 การออกแบบและสร้างเครื่องฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยรังสียูวีซี โดยปัจจุบันประตูตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลอัตโนมัติ ติดตั้งอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งใช้งบประมาณในการออกแบบและพัฒนาเพียง 30,000 บาท ซึ่งเหมาะกับหน่วยงานที่ต้องติดตั้งจำนวนมาก ด้วยต้นทุนไม่สูง หน่วยงานหรือองค์กรสนใจ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาด้านวิชาการและด้านพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร.0 2549 3400 หรือทางเว็บไซต์ www.rmutt.ac.th

 

 

00ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0 2549 4994

Loading