วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567

ทุเรียนภูเขาไฟ”ศรีสะเกษ”ทำเศรษฐกิจพุ่งกระฉูด

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทำเศรษฐกิจพุ่งกระฉูด ชาวสวน/โรงแรมและร้านอาหารยิ้มไม่หุบ

เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2563 เวลา 16.30 น ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดงานเทศกาลเงาะทุเรียน ซึ่งจังหวัดจัดงานตั้งแต่ วันที่ 26 มิถุนายน2563 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ได้มีโอกาสต้อนรับ นายสมชาย ชมภูน้อย ผอ.ททท.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ ซึ่งนำ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ผู้ดำเนินรายการกฤษนะทัวร์ยกล้อ ที่มาเยี่ยมชมงานเทศกาลเงาะทุเรียนที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ บรรยากาศยังเต็มไปด้วยความคึกคักของนักชิมทุเรียนที่ยอมเบียดโควิด-19 มารอคิวให้เจ้าของสวนทุเรียนที่มาออกร้านในงานเลือกทุเรียนให้ แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นจาก160 -180 จนถึง200 ก็ยังมีคนรอซื้อเพราะร้านจำหน่ายทุเรียนปิดไปหลายร้าน เนื่องจากจำหน่ายหมดตั้งแต่เช้าทั้งที่งานยังไม่เลิก

นายสมชาย ชมภูน้อย ผอ.ททท.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษมาแรงในเรื่องทุเรียนภูเขาไฟมาก เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โรงแรมเต็มมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน เพราะมีคณะคาราวานทัวร์ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุน การเดินทางมาเส้นทางอิสาน อานิสงจากทุเรียนภูเขาไฟช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ โควิด-19 ที่ทำตลาดท่องเที่ยวเงียบเหงามาหลายเดือน ช่วงนี้เกิดคึกคักอย่างไม่น่าเชื่อ ตนต้องพานักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสวนหลายคณะ และพาไปอุดหนุน หลายๆสวน เพื่อกระจายรายได้ให้เจ้าของสวน นักท่องเที่ยวมาชิมทุเรียนติดใจก็กลับไปบอกต่อทำให้ทัวร์มาไม่ขาดสาย หลายคณะยังติดต่อขอมาคาราวานเพื่อขนทุเรียนกลับไปทานที่บ้าน อยากให้จังหวัดศรีสะเกษเตรียมชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเที่ยวหลังจากทุเรียนหมด ให้ทำเส้นทางที่น่าสนใจอื่นๆเพื่อดึงดูดให้เที่ยวได้ตลอดปี

น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์กล่าวว่า ช่วงนี้ต้องวิ่งรอกระหว่างสุรินทร์และศรีสะเกษทุกวัน เพราะต้องมาช่วยดูแลคณะทัวร์ที่มาในรูปแบบ New Normal ใช้รถตู้ มาทีละ10 คัน หรือ 20 คัน เพราะคล่องตัวเวลาเข้าสวนทุเรียน วันนี้ก็มีคณะมาสามคณะ ทุกคณะก็ต้องการไปชิมทุเรียนในสวนและซื้อกลับบ้าน ได้ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จะต้องมีมาตรการสวมหน้ากากอนามัย มีเจล ล้างมือในสวนเกษตร พร้อมกับรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) เป็นการร่วมดำเนินงานตามโครงการ Check In ถิ่นเมืองช้างและดินแดนภูเขาไฟ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตร และกระตุ้นการท่องเที่ยววิถีชุมชนในพื้นที่

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีสะเกษ กล่าวว่า ดีใจกับชาวสวนทุเรียน ร้านอาหารและโรงแรมที่พัก ที่มีคณะทัวร์จองมาเต็มหลายโรงแรม ได้เห็นคณะรถตู้วิ่งจากกรุงเทพฯมาศรีสะเกษแล้วบึ่งเข้าสวนทุเรียนเพราะอยากชิม ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่แข็งแรงมากเพราะต้องนั่งรถยนต์แบบไม่ได้แวะพักที่ไหนเลย ทุกคนกลัวมืดค่ำก่อนเข้าสวน เมื่อได้ชิมทุเรียนแล้วก็อุดหนุนกลับไปเป็นจำนวนมาก ศรีสะเกษ ไม่ได้คึกคักเฉพาะมีนักท่องเที่ยวมา แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัดฯ และหน่วยงานต่างๆก็ต้องรับแขกทุกวันเพราะภูเขาไฟศรีสะเกษดังระเบิดในด้านกรอบนอกนุ่มใน กลิ่นไม่ฉุน หวานละมุนลิ้น ใครๆก็อยากมาชิม ประกอบกับมีวันหยุดมาก ทำให้แหล่งท่องเที่ยวศรีสะเกษขายดี คือนักท่องเที่ยว ไปกราบไหว้สรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา ไปสูดโอโซนรับอากาศบริสุทธิ์ที่จุดชมวิวพญากูปรี ไปชมวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม วัดมหาพุทธาราม วัดสระกำแพงใหญ่ ฯลฯ ไม่ใช่เฉพาะทุเรียนเท่านั้น แม้หอมกระเทียมขึ้นชื่อของศรีสะเกษก็ขายดีมาก ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ช่วยประชาสัมพันธ์ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้นมาก

ข่าว/ภาพ …. บุญทัน ธุศรีวรรณ

Loading